เด็กจมน้ำหน้าร้อน ภัยเงียบ ความสูญเสียที่ป้องกันได้
ใน 5 ปีที่ผ่านมานี้ (2561 - 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมหน้าร้อน หรือช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม จำนวน 953 ราย
ช่วงปิดเทอมหน้าร้อน เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้หยุดพักผ่อนจากการเรียน ได้เที่ยวเล่นน้ำคลายร้อนกับเพื่อนๆ แต่ช่วงเวลาที่อากาศสดใส และเด็กๆ สนุกสนานร่าเริงนี้กลับเป็นช่วงเวลาที่มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยแล้วในทุกๆ วันช่วงหน้าร้อน มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึงวันละ 2 คน ทั่วประเทศ
ใน 5 ปีที่ผ่านมานี้ (2561 - 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมหน้าร้อน หรือช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม จำนวน 953 ราย โดยเดือนเมษายน เป็นเดือนที่พบเหตุการณ์จมน้ำมากที่สุด ปีละ 65 ราย (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ณ มีนาคม 2566) โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ขาดการดูแลจากผู้ปกครอง และขาดความรู้เรื่องแหล่งน้ำที่เสี่ยง และอันตราย
นายณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม หรือครูพายุสอนว่ายน้ำ ผู้ตระหนักในปัญหาเด็กจมน้ำที่เป็นภัยเงียบ และก่อตั้งโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กด้อยโอกาส รวมถึงโครงการ ลมหายใจใต้น้ำ เพื่อ 1,000 ชีวิต พ้นวิกฤตจมน้ำ ซึ่งระดมทุนเพื่อให้เด็กๆ มีทักษะในการเอาต้วรอดเมื่อตกน้ำ ได้สนับสนุนถึงปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เด็กจมน้ำคือการขาดการดูแลที่ใกล้ชิดจากผู้ปกครอง และได้กล่าวถึงลักษณะการจมน้ำของเด็ก ที่มักพบในช่วงวัยต่างๆ ว่า
- ช่วงเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ขวบ มักเป็นการจมน้ำเสียชีวิตในบ้าน เช่น น้ำในชักโครก กะละมัง โอ่งมังกร เกิดขึ้นเพราะความประมาท ขาดการดูแลจากผู้ปกครอง ไม่สังเกตหรือเห็นเมื่อเด็กเอาหัวจุ่มน้ำเล่น
- ช่วงเด็กอายุ 5-8 ปี เป็นช่วงอายุที่พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มไว้ใจ เนื่องจากเด็กสามารถขอความช่วยเหลือได้ โทรหาพ่อแม่ได้ แต่เป็นวัยที่เด็กเริ่มท้าทาย จึงเป็นโอกาสที่จะเล่นน้ำ จมน้ำ โดยไม่ระวังหรือไม่รู้ถึงความสามารถของตนเองได้
- ช่วงเด็กโต อายุ 10 ปีขึ้นไป แม้เล่นน้ำตื้นที่คิดว่าไม่เป็นอันตราย ที่มีน้ำระดับเพียงแค่เอว แต่หากเด็กยืนไม่ถึง เป็นตะคริว ก็มีโอกาสจมได้
สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุในการจมน้ำคือ
การที่เด็กไม่รู้ตัวว่าว่ายน้ำไม่เป็น ไม่เคยว่ายน้ำ ไม่รู้ว่าตนเองลอยน้ำได้หรือไม่ เข้าใจว่าลอยน้ำได้เหมือนเพื่อนหรือพ่อแม่
การป้องกันการเด็กจมน้ำเสียชีวิตที่ดีที่สุดคือการให้เด็กได้เรียนว่ายน้ำ
โดยนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค มีความเห็นว่าเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด แต่เนื่องจากการว่ายน้ำเป็นกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าเรียน ค่าลงสระ ค่าชุดว่ายน้ำ นอกจากนี้บางพื้นที่ยังหาสระว่ายน้ำยาก รวมถึงช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การเรียนว่ายน้ำเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก การป้องกันและเฝ้าระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิตที่เป็นไปได้ และสามารถทำได้ทันที คือ
- เมื่อเด็กเล่นน้ำ ต้องมีอุปกรณ์ช่วยลอยตัวทุกครั้ง และอยู่ในสายตาพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดเวลา
- การเดินทางทางน้ำ ต้องใส่เสื้อชูชีพทุกครั้ง
- ไม่แนะนำให้เล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะมืดมองไม่เห็นใต้น้ำ และมีโคลน มีตอไม้อยู่ใต้น้ำ
นอกจากนี้ยังช่วยลดจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำได้ ด้วยการช่วยเหลือที่ถูกวิธีเมื่อพบเด็กตกน้ำ
- ใช้หลัก “ตะโกน โยน ยื่น” คือ ตะโกนขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากผู้อื่น โยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ลงในน้ำให้เด็กได้ใช้พยุงตัวลอยน้ำจนกว่าจะมีคนมาช่วย และยื่นเชือก ไม้ ผ้า ที่หาได้ให้เด็กจับ และดึงเข้าหาฝั่ง
- หากไม่ได้ผล ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมช่วยเหลือผู้ตกน้ำมาโดยเฉพาะ ไม่ควรลงไปช่วยเองแม้จะว่ายน้ำเป็น เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่เด็กจะกดให้ผู้ช่วยเหลือจมน้ำไปด้วย นอกจากเป็นสระว่ายน้ำที่เป็นสระน้ำตื้น ผู้ใหญ่สามารถลงไปช่วยได้
- โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือที่ 1669 หรือ แจ้งหน่วยพยาบาลหน่วยกู้ภัยที่ใกล้ที่สุด
- การปฐมพยาบาลเด็กตกน้ำเบื้องต้นที่ถูกต้องมีความสำคัญมาก เด็กจมน้ำที่ไม่รู้สึกตัวไม่หายใจ ควรได้รับการ CPR หรือการช่วยหายใจและการนวดหัวใจที่ถูกต้องและทันท่วงที
เหตุการณ์จมน้ำจนเสียชีวิตเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากเพียงไม่กี่นาที เราสามารถช่วยกันสร้างความตระหนักเพื่อลดการสูญเสียที่ป้องกันได้ ด้วยการให้เด็กๆ เล่นน้ำหน้าร้อนด้วยความระมัดระวัง โดยมีการเฝ้าระวังอย่างไม่ประมาทจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ขอความช่วยเหลือ และรู้วิธีการช่วยเหลือปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี และฝึกว่ายน้ำให้เป็นเพื่อเอาชีวิตรอดได้เมื่อตกน้ำ
Special thanks
ขอบคุณครูพายุที่ให้เทใจสัมภาษณ์และแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูล
นายณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม ครูสอนว่ายน้ำอดีตนักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติไทย ผู้ก่อตั้งโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กด้อยโอกาส