project ผู้พิการและผู้ป่วย

กองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน

ช่วยเหลือค่าผ่าตัดผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตัน (Ischemic stroke) ที่มีความจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยวิธีใส่สายสวนลากลิ่มเลือดสมอง (Cerebral Thrombectomy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาชีวิตผู้ป่วย โดยจะเริ่มทำงานใน ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

Duration 1ปี Area ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

Current donation amount

1,188,453 THB

Target

2,000,000 THB
ดำเนินการไปแล้ว 59%
จำนวนผู้บริจาค 696

สำเร็จแล้ว

Project updates

ช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยจากลิ่มเลือดสมองอุดตันทั้งหมด 12 ราย

27 May 2022

ตลอดโครงการ"กองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน" สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งหมดจำนวน 12 ราย ในพื้นที่โครงการ คือ เขตบริการสุขภาพที่ 6 (ภาคตะวันออก) ประกอบด้วยจังหวัด ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด จนกระทั่งล่าสุด การช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยงบประมาณสนับสนุนจาก "กองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน" โดย นพ.มกร ลิ้มอุดมพร (ประสาทแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และ ประธาน service plan สาขาโรคหลอดเลือดสมองเขตบริการสุขภาพที่6) และนายแพทย์เขตต์ ศรีประทักษ์ (แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพ ที่ 6 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) ได้ให้มีส่วนร่วมผลักดันการรักษาโดยวิธีการให้สวนหลอดเลือดสมองไปอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพได้แล้วครับ 

ขอขอบคุณแทนผู้ป่วยทุกคนครับ🙏🏻🙏🏻😊


Read more »
See all project updates

รู้ เร็ว รอด!

รู้ ช้า เสี่ยงตาย เสี่ยงอัมพาต!

นี่เป็นคำนิยามสั้นๆ ของคำว่า โรคหลอดเลือดสมอง

องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) เพิ่งรายงานเมื่อปี 2560 ว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก 

ขณะที่ประเทศไทย โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุของโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอันเนื่องมาจากการตายก่อนวัยอันควรสูงเป็นอันดับ 1

โรคนี้ถือเป็นภัยที่กำลังคุกคามประชากรทั่วโลก

แม้วันนี้ประเทศไทยโชคดีที่เมื่อมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที นั่นคือ ภายใน 4.5 ชั่วโมงพวกเขาจะได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาสลายลิ่มเลือด ซึ่งจะสามารถลดการพิการแขนขาอ่อนแรงถาวร  

ทว่าในความเป็นจริง เคสแบบนี้หลายรายส่งในระยะเวลาเกินกำหนด ทำให้สิ่งที่ตามมาคือไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาสลายลิ่มเลือด หรือกรณีที่การอุดตันมีขนาดใหญ่การกินยา ก็ใช้ไม่ได้ผล

วิธีการรักษาต่อมา การใส่สายสวนลากลิ่มเลือดสมอง (Cerebral Thrombectomy) ซึ่งวิธีนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตและช่วยลดความพิการของผู้ป่วย

ทว่า ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยวิธีนี้ได้เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายเพิ่มที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์การรักษาของผู้ป่วย โดยค่าอุปกรณ์ที่ใช้ต่อเคสอยู่ระหว่าง 30,000 บาท หรือบางรายอาจจะไปถึง 200,000 บาท หากผู้ป่วยคนนั้นใช้สิทธิบัตรทอง   

เราจึงจัดทำโครงการ "กองทุนทลายโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน" เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย โดยพื้นที่นำร่องของโครงการคือ เขตบริการสุขภาพที่ 6 (ภาคตะวันออก) ประกอบไปด้วยจังหวัด ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราดให้เข้าถึงการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวให้มากขึ้น

ภาพประกอบ : ลิ่มเลือดที่ไปอุดตันเส้นเลือดในสมอง

ภาพประกอบ : วิธีการใส่สายสวนเพื่อลากลิ่มเลือดที่ไปอุดตันเส้นเลือดในสมอง


ภาพประกอบ : ลิ่มเลือดที่ลากออกมา

วิธีการทำงาน

  1. เครือข่ายแพทย์ประชุมเพื่อประเมินวิธีการรักษา
  2. กรณีที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยวิธีใส่สายสวนลากลิ่มเลือดสมอง ระหว่างโรงพยาบาลต่างๆในภาคตะวันออก โรงพยาบาลจะทำการประสานไปสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เพื่อเตรียมผ่าตัด
  3. โรงพยาบาลเบิกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจาก "กองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน"
  4. งบประมาณจะเบิกได้ก็ต่อเมื่อกองทุนมีเงินสำรอง


ทีมงาน

  • นพ.มกร ลิ้มอุดมพร ประสาทแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และ ประธาน service plan สาขาโรคหลอดเลือดสมองเขตบริการสุขภาพที่6 
  • นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพ ที่ 6 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

หมายเหตุ บริจาคออนไลน์ผ่านเทใจดอทคอม สามารถขอใบรับเงินเพื่อนำไปหักภาษีได้

เทใจดอทคอม ขออนุญาตหักค่าธรรมเนียมการให้บริการ 10%
(ค่าระบบออนไลน์ ต้นทุนค่าธรรมเนียมธนาคารและ payment gateway ค่าคัดกรองโครงการ ตรวจสอบ ติดตาม วัดผล และรายงานความคืบหน้า)

ผ่าตัดรักษาลิ่มเลือดสมองอุดตันสำเร็จแล้ว 2 เคส

3 April 2019

วันนี้เราได้ 2 ผู้รอดชีวิตและยังรอดพ้นจากความพิการจากการกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน โดยมี นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพ ที่ 6 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และนพ.มกร ลิ้มอุดมพร ปประธาน service plan สาขาโรคหลอดเลือดสมองเขตบริการสุขภาพที่ 6 ได้ริเริ่มโครงการนี้

ภาพประกอบ

คุณหมอบรรยาย โครงการกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน



มอบเงินรักษาพยาบาล

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา

เคสที่ 1 ส่งต่อจากโรงพยาบาลบางละมุง จ.ชลบุรี

ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 88 ปี ถูกส่งมายังโรงพยาบาลด้วยการอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรงยกไม่ได้ มีอาการซึมลง 30 นาทีก่อน แพทย์จากรพ.บางละมุง วินิจฉัยเป็นเส้นเลือดสมองใหญ่ด้านซ้ายอุดตัน ได้รับยาสลายลิ่มเลือด แต่อาการไม่ดีขึ้น และไม่สามารถหายใจเองได้ จึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งต่อมารรักษาตัวที่สถาบันประสาท เพื่อรักษาด้วยวิธีใส่สายสวนหลอดเลือด โดยแพทย์จากสถาบันประสาทใช้เวลาในการผ่าตัด 50 นาที
อาการหลังผ่าตัด : ผู้ป่วยมีอาการที่ตื่นมากขึ้น สามารถเอาท่อช่วยหายใจออกและหายใจได้เอง อีก 2 วันต่อมา แขนขาด้านขวายังอ่อนแรงแต่เริ่มขยับได้ ผู้ป่วยอยู่พักฟื้นในสถาบันประสาทวิทยาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นส่งกลับเพื่อกายภาพบำบัดต่อที่โรงพยาบาลบางละมุง

เคสที่ 2 ส่งต่อจากโรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ

ผู้ป่วยเพศหญิง 65 ปี มีอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรงและพูดไม่ได้ เข้ารักษารพ.เปาโลสมุทรปราการ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเส้นเลือดสมองใหญ่ด้านซ้ายอุดตัน ได้รับยาสลายลิ่มเลือด แต่อาการไม่ดีขึ้น และไม่สามารถพูดได้ ฟังไม่เข้าใจความหมาย จึงส่งต่อมารักษาตัวที่สถาบันประสาทวิทยา เพื่อรักษาด้วยวิธีใส่สายสวนหลอดเลือด โดยใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 40 นาที
อาการหลังผ่าตัด : ผู้ป่วยรู้ตัวดี พูดและฟังเข้าใจได้ แขนขาด้านขวายังมีอาการอ่อนแรงเล็กน้อย จึงให้ทำกายภาพบำบัดประมาณ 1 สัปดาห์ ปัจจุบันอาการใกล้เคียงเป็นปกติ

ผู้ป่วยทั้งสองเคสใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล เนื่องจากการรักษาชนิดสายสวนหลอดเลือดไม่สามารถเบิกได้ตามหลักเกณฑ์กองทุนประกันสุขภาพ จึงทำให้ผู้ป่วยจ่ายได้บางส่วน และกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดร่วมสมทบค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 249,320 บาท 

ผ่าตัดผู้ป่วยรายที่ 3

7 October 2019

ผู้ป่วยชาย 59 ปี มารพ.สมุทรปราการด้วยซึม แขนขาด้านซ้ายอ่อนแรง 4 ชม ก่อนมารพ. ทำเอกซ์เคย์คอมพิวเตอร์สมองพบการขาดเลือดที่ก้านสมอง ได้รับยาสลายลิ่มเลือดที่สมุทรปราการแต่ไม่สามารถเปิดเส้นเลือดได้ จึงส่งต่อสถาบันประสาทเพื่อรักษาด้วยวิธีลากสายสวน

- ที่สถาบันได้ทำการรักษาด้วยวิธีลากสายสวนได้ลิ่มเลือดสมองออกมา แต่เนื่องจากเป็นตำแหน่งก้านสมองที่ขาดเลือดมาเลี้ยงทำให้แม้รักษาชีวิตผู้ป่วยได้แต่ไม่สามารถฟื้นตัว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเจาะคอเพื่อดูแลต่อเนื่อง ส่งกลับรพ.สมุทรปราการ มีภาวะแทรกซ้อนคือปอดบวม ทำให้ผู้ป่วยทรุดลงและเสียชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 1 เดือน

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันในระยะเฉียบพลันรายที่ 4-6

20 August 2020

เรียนผู้บริจาคกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน 

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันในระยะเฉียบพลันมีเป้าหมายมุ่งเน้นเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันให้เป็นปกติ เพื่อลดความเสียหายจากสมองขาดเลือด โดยนอกเหนือจากการใช้ยาสลายลิ่มเลือด (Intravenous rt-PA)แล้ว การรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือด (Mechanical Thrombectomy) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีอัตราประสบความสำเร็จมากถึง 80% และยังสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วย โดยสามารถทำได้แม้ผู้ป่วยมีอาการมาแล้วถึง 24 ชั่วโมง ในขณะที่การรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือดสามารถให้ได้หลังจากที่มีอาการภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น

ข้อจำกัดด้านการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือดมีหลายประการไม่ว่าจะเป็น สถานพยาบาลที่พร้อมรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีน้อยในประเทศไทย หรือ การประเมินและการส่งต่อผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับการผู้ป่วยคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือดอยู่ที่ประมาณ 100,000 – 150,000 บาท ซึ่งผู้ป่วยในสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะไม่มีสิทธิในการรักษาด้วยวิธีนี้ ส่งผลต่อการตัดสินใจต่อแผนการรักษาทั้งตัวผู้ป่วยและสถานพยาบาล

นับตั้งแต่ที่ได้มีการจัดตั้งกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมอง เทใจดอทคอม ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันในทุกสิทธิของเขตสุขภาพที่ 6 (ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด) หากจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือด (ที่ส่งต่อยังสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) จะใช้เงินจากกองทุนเทใจนี้ร่วมชำระค่ารักษาเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ป่วยมากเกินไป ส่งผลให้ทุกโรงพยาบาลในภาคตะวันออกขยายระยะเวลา Stroke Fast Tack เป็น 24 ชั่วโมง (จากเดิม 4 ชั่วโมง 30 นาที) เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาผู้ป่วยให้มากขึ้น และปรับแผนการรักษาผู้ป่วยใหม่เพื่อรองรับการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงบริการได้มากขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมอง รวม 6 ราย เป็นเงิน 549,660 บาท ผลการรักษาจากการติดตามที่ 3 เดือน ผู้ป่วย 83.3 % มีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ลดภาวะพึ่งพิง มีภาวะสุขภาพจิตที่ดี มีกำลังใจในการฟื้นฟูร่างกายต่อไป ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนของบุคลากรสาขาโรคหลอดเลือดสมองเขตสุขภาพที่ 6 ทุกคน ขอพระขอบคุณผู้มีบริจาคทุกท่าน , นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 6 และเทใจดอทคอม ที่ช่วยผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์นี้เพื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของภาคตะวันออกทุกคน

ผู้ป่วยผ่าตัดรายที่ 4

ผู้ป่วยหญิง อายุ 58 ปี ส่งต่อจากจังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 5 เมษายน 2563 ด้วยอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรง 6 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล แรกรับที่จ.สมุทรปราการ แพทย์ได้ประเมินแล้วว่าเป็นลักษณะของหลอดเลือดแดงด้านซ้ายขนาดใหญ่อุดตัน (left middle cerebral artery infarction) แต่เนื่องด้วยระยะเวลาเกิน 4 ชั่วโมง 30 นาที ไม่สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ แต่ยังมีโอกาสในการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือดจึงได้ประสานสถานบันประสาทวิทยาเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ณ สถาบันประสาทวิทยา แพทย์ได้ทำการประเมินผู้ป่วยอีกครั้ง และเห็นว่าการผ่าตัดสามารถมีประโยชน์ จึงได้ทำการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือด ผลการผ่าตัดประสบด้วยดี สามารถลากลิ่มเลือดออกได้ เมื่อติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัดมีการฟื้นตัวที่ดี แขนขาด้านขวามีแรงมากขึ้น ยกได้มากขึ้น ความสำเร็จและจากการติดตามที่ 3 เดือน ผู้ป่วยสามารถเดินได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยพยุง แม้จะมีแขนขาอ่อนแรงอยู่แต่สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้ ค่าใช้จ่ายในการทำหัตถการของผู้ป่วยซึ่งเบิกไม่ได้ตามระเบียบเป็นเงิน 52,140 บาท ผู้ป่วยสามารถร่วมจ่ายได้เป็นเงิน 10,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมอง 42,140 บาท

ผู้ป่วยผ่าตัดรายที่ 5

ผู้ป่วยชาย 40 ปี ส่งต่อจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยอาการแขนขาด้านซ้ายอ่อนแรง ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด ขณะเดินเข้าห้องน้ำ 3 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล (3.00 น. 4 สิงหาคม 2563) เข้ารับการรักษาที่รพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา แพทย์ประเมินอาการและให้ยาสลายลิ่มเลือด แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีลักษณะของการอุดตันหลอดเลือดแดงสมองขนาดใหญ่ (right middle cerebral artery) มีโอกาสที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือด จึงได้ประสานสถาบันประสาทวิทยาเพื่อส่งต่อ ณ สถาบันประสาทวิทยา แพทย์ได้ประเมินอาการซ้ำปรากฏว่าผู้ป่วยยังไม่สามารถขยับแขนขาด้านซ้ายได้ เนื่องจากล้มเหลวจากการเปิดหลอดเลือดด้วยยาสลายลิ่มเลือด แพทย์จึงได้รักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือดในวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ผลการรักษาประสบความสำเร็จ สามารถลากลิ่มเลือดออกมาได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแขนขาด้านซ้ายมีแรงมากขึ้น ยกยืนได้ แต่ยังไม่สามารถเดินได้เอง แพทย์ได้ปรึกษาเวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อเตรียมผู้ป่วยฟื้นฟูในระยะต่อไป ผู้ป่วยรายนี้มีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือสิทธิ 140,200 บาท ผู้ป่วยร่วมชำระ 15,000 บาท ใช้เงินกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองทดแทน 125,200 บาท

ผู้ป่วยผ่าตัดรายที่ 6

ผู้ป่วยชายอายุ 65 ปี วันที่ 8 สิงหาคม 2563 14.00 น อาการยังเป็นปกติ จากนั้นญาติไปพบผู้ป่วยนอนซึมลงไม่พูด มีอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรง เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เมื่อเวลา 17.00 น. แพทย์ประเมินแล้วพบเป็นหลอดเลือดแดงด้านซ้ายขนาดใหญ่อุดตัน (left middle cerebral artery) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรง และพูดไม่ได้ แพทย์ได้ให้ยาสลายลิ่มเลือดและส่งต่อสถาบันประสาทวิทยาเพื่อพิจารณาการรักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือด แพทย์ที่สถาบันประสาทวิทยาได้ประเมินอาการผู้ป่วยซ้ำอีกครั้ง และได้ทำการรักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือดเมื่อเวลา 2.00 น. วันที่ 9 สิงหาคม 2563 ผลการรักษาประสบความสำเร็จสามารถลากลิ่มเลือดออกมาได้เป็นจำนวนมาก (ดังรูป) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวที่ดี แขนขาด้านขวากลับมายกได้แม้อ่อนแรงเล็กน้อย สามารถพูดได้แต่ยังมีอาการลิ้นแข็งพูดไม่ชัดเล็กน้อย ขณะนี้ส่งผู้ป่วยกลับมาฟื้นฟูต่อที่จังหวัดปราจีนบุรีได้อย่างปลอดภัย ผู้ป่วยรายนี้มีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือสิทธิ 38,390 บาท ผู้ป่วยร่วมชำระ 5,390 บาท ใช้เงินกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองทดแทน 33,000 บาท


ช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยจากลิ่มเลือดสมองอุดตันทั้งหมด 12 ราย

27 May 2022

ตลอดโครงการ"กองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน" สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งหมดจำนวน 12 ราย ในพื้นที่โครงการ คือ เขตบริการสุขภาพที่ 6 (ภาคตะวันออก) ประกอบด้วยจังหวัด ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด จนกระทั่งล่าสุด การช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยงบประมาณสนับสนุนจาก "กองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน" โดย นพ.มกร ลิ้มอุดมพร (ประสาทแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และ ประธาน service plan สาขาโรคหลอดเลือดสมองเขตบริการสุขภาพที่6) และนายแพทย์เขตต์ ศรีประทักษ์ (แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพ ที่ 6 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) ได้ให้มีส่วนร่วมผลักดันการรักษาโดยวิธีการให้สวนหลอดเลือดสมองไปอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพได้แล้วครับ 

ขอขอบคุณแทนผู้ป่วยทุกคนครับ🙏🏻🙏🏻😊


Budget plan

รายการคนบาท
ค่าอุปกรณ์สำหรับการรักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือดอุดตันสมองเฉลี่ยรายละ 35,000-150,000 บาท201,000,000

ค่าดำเนินงานเทใจดอทคอม 10% เป็นเงินโดยประมาณ 100,000 บาท

(ค่าระบบออนไลน์ ต้นทุนค่าธรรมเนียมธนาคารและ payment gateway ค่าคัดกรองโครงการ ตรวจสอบ ติดตาม วัดผล และรายงานความคืบหน้า)



หมายเหตุ: ราคาดังกล่าว มาจากการสำรวจราคาโดยประมาณ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้