ผมเป็นนักเรียนทุนพระราชทานมูลนิธิอานันทมหิดล ได้ไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อก้องโลก ถือเป็นเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต ผมไม่เคยถวายงานพระองค์เพราะกลับมาจากต่างประเทศไม่นานพระองค์ก็เริ่มประชวร ผมทำงานเทคโนโลยีที่ใจรักอยู่เสียหลายปี ในที่สุดผมก็ตอบตัวเองได้ว่างานเทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัยเหล่านี้ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรสำหรับประเทศไทยเลยเพราะมันไม่ใช่จุดแข็งของเรา ประเทศไทยเราขาดแคลนทุกอย่างที่จะส่งเสริมให้สิ่งที่ผมสนใจก้าวหน้า ในที่สุดผมก็ตัดสินใจยุติความมุ่งมั่นกับเทคโนโลยีนี้หลังจาก 14 ปี เมื่อล้างมือแขวนนวมแล้วก็มีวิกฤตเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้หลายต่อหลายครั้ง โควิด19 เล่นเอาผู้เล่นขนาดยักษ์หมอบล้มละลาย ผมน่าจะตัดสินใจถูกต้องแล้ว คำถามที่ยังไม่มีคำตอบคืออะไรเหมาะกับเมืองไทย? ผมกลับไปทำงานกับบริษัทครอบครัวที่ผมเคยมองว่า ”ไม่มีอะไรน่าสนใจน่าตื่นเต้น” แล้วค่อยๆ ขัดให้มันมีประกายฉายความน่าสนใจออกมา เราค่อยๆ กลายเป็นบริษัทวิศวกรรมที่เกี่ยวกับความยั่งยืนเล็กๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ที่อยู่ในโครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต สองปีครึ่งมานี้ ผมมีโอกาสศึกษาปัญหาหมอกควัน PM2.5 มันเป็นปัญหาใหม่ของชาติไทย การศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมทำให้ผมเดินทางไปบ้านก้อ อ ลี้ จ ลำพูนซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีปัญหาไฟป่าหนักหนาสาหัสที่สุดแห่งหนึ่งของเรา จากนักเทคโนโลยีที่ไม่เคยรู้จักหรือแม้แต่สนใจเรื่องของป่า ผมค่อยๆ ซึมซับเรื่องของจุลินทรีย์ พฤกษศาสตร์ และวิถีของชาวบ้าน แล้วผมก็ค่อยๆ รู้ว่าฝุ่นนั้นเป็นแค่ปลายเหตุของปัญหาที่ใหญ่กว่ามาก และเกี่ยวข้องกับคน ผมเริ่มเข้าใจพระราชดำรัสเรื่อง "น้ำคือชีวิต" แบบเข้าด้วยใจจากตัวอย่างจริง ในป่านั้นการบริหารจัดการน้ำติดขัดข้อกฏหมายมากมายแต่มันก็พอจะมีทางออกหากเราไม่ยอมแพ้ ข้อต่อไปคือพระราชดำรัสเรื่อง "ป่าเปียก" คือการสร้างฝายชะลอน้ำให้ป่าเก็บน้ำไว้ได้ ห้วยที่ชุ่มชื้นเหล่านี้กลายเป็นแนวกันไฟตามธรรมชาติ หากมีไฟป่าจะไม่ลามไปไกล รวมทั้ง "ปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง" ซึ่งพระองค์ทอดพระเนตรอย่างทะลุปรุโปร่งถึงวิธีการใช้ชีวิตอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนและพอเพียง ป่าสมบูรณ์ชาวบ้านก็ท้องอิ่มมีเงินพอใช้ ศาสตร์พระราชาด้านป่าและปรัชญาในการดำรงชีวิตเหล่านี้มีเป็นสิบๆ ถ้าฟังหูทะลุหูก็เหมือนเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายไม่มีอะไร แต่ถ้าลงปฏิบัตินี่ยากเย็นแสนเข็นเพราะเกี่ยวกับคนโดยเฉพาะการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ไม่ลงมือไม่มีวันเข้าใจจริง ขณะนี้ผมพบว่าตัวเองต้องพยายามปฏิบัติสิ่งที่ทรงเรียกว่า "ปลูกป่าในใจคน" เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านให้กลับมาคิดใหม่ทำใหม่และลงมือด้วยตัวเขาเอง แทนที่จะหางบประมาณถล่มลงไปงานเกิดแต่ไม่ยั่งยืนถอนตัวเมื่อไรรับรองสูญสลาย การเปลี่ยนใจคนนี้ยากมากและอาศัยเวลา ต้องพากเพียรพยายามปากเปียกปากแฉะอย่างยิ่งยวด ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมพระมหาชนกถึงต้องว่ายน้ำเจ็ดวันเจ็ดคืน อีกข้อหนึ่งคือเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรมโดยเริ่มจากเยาวชน ผมเข้าใจแล้วว่าไม้แก่ดัดยากไม้อ่อนดัดง่าย เยาวชนในสายตาผมคือเจ้าของหมู่บ้านในอนาคต แน่แหละทุกอย่างที่เราสอนเยาวชนเหล่านี้ย่อมจะได้ผลระยะยาว มาช้าแต่ยั่งยืน จากนักเทคโนโลยีเดินตามฝรั่ง ผมค่อยๆรู้จักเมืองไทยในความเป็นจริงมากขึ้น และเริ่มเข้าใจวิธีการทรงงานของล้นเกล้าฯ ด้วยการเดินเตาะแตะตามรอยพระบาทไปทีละนิด ผมเริ่มเห็นว่าศาสตร์พระราชาทุกข้อเกี่ยวกับป่านั้นทรงคิดค้นหาทางออกที่เหมาะสมและลงตัวที่สุดแล้วสำหรับบริบทของเรา ที่สำคัญที่สุดคือมุมมองของผมต่อประเทศไทยนั้นค่อยๆเปลี่ยนไป ผมมองเห็นว่าต่อไปจะเกิดมหาวิกฤตที่รุนแรงมากจนระบบราชการไม่สามารถทำงานแก้ปัญหาได้ทันการ ล้นเกล้าฯ ไม่ทรงอธิบายว่าวิกฤตนี้คืออะไร แต่ปัจจุบันอาจจะเรียกว่าวิกฤตนี้ว่า "ภาวะโลกรวน" หรือ Climate Crisis มนุษย์ชาติจะประสบกับโรคอุบัติใหม่ (โควิดคงเป็นการเตือนภัยเร่ิมต้น) จะเห็นน้ำแล้งน้ำท่วมแสนสาหัส ไร่นาเสียหายไม่สามารถเพาะปลูกไ้ด้ น้ำท่วมเมืองชายฝั่ง อาหารแพงและหายาก โรคพืชโรคสัตว์แมลงระบาด การอพยบย้ายถิ่นขนาดใหญ่ สิ่งที่ทรงย้ำเตือนมาตลอดคือความจำเป็นในการรักษาความมั่งคงทางอาหารและการแพทย์ ที่จะช่วยให้เราคนไทยมีความสามารถในการฝ่าฝันวิกฤตและกลับคืนสู่ความผาสุขได้ต่อไป ถึงจุดนั้นเงินกลับจะไม่มีค่า เศรษฐีกับยาจกจะกลับมาเท่าเทียมกัน เหมือนดูหนังวันสิ้นโลกทำนองนั้น สำหรับผมการเดินเตาะแตะตามรอยพระบาท ทำให้ผมเข้าใจและเชื่อมโยงได้แล้วว่าพระองค์ทรงพยายามสอนอะไรเรา ทำไมต้องสอน และเพื่อให้เราเอาตัวรอดจากอะไร ผมจะเตาะแตะตามรอยพระบาทไปเรื่อยๆ เพราะผมคิดว่าแผ่นดินนี้สามารถคุ้มครองเราจากมหาวิกฤตโลกรวนได้ เพียงแค่เราเรียนรู้ที่จะทำนุบำรุงมันให้เป็นกันชน หัดทำงานร่วมกันโดยไม่ตีกัน เดินไปตามคัมภีร์จากศาสตร์พระราชาทั้งหลาย ที่ทรงชี้แนะไว้ในแผ่นดินนี้แล้ว ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดล 13 ตุลาคม 2564ที่มา เฟสบุค เพจฝ่าฝุ่น
-