มูลนิธิเอิร์ธ อะเจนด้า เป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งเพื่อทำงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก สัตว์ป่าคุ้มคลอง และสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก โดยได้เนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางด้านต่างๆ เช่น ด้านการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ ด้านการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับประชาชนทั่วไป และการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และโครงการ "กองทุกรักษาเต่าบาดเจ็บ" เป็นหนึ่งในโครงการของมูลนิธิที่จัดทำขึ้นเพื่อระดมทุนไปใช้ในการช่วยเหลือและเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหารเต่าและตะพาบไทยในธรรมชาติ ทั้งเต่าบก เต่าน้ำ และเต่าทะเล ที่เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ โดยไม่มีเจ้าของดูแล ถูกเก็บหรือบริจาคมา ให้กลับมามีสุขภาพที่ดี หายจากความเจ็บป่วย และได้รับการปล่อยกลับไปสู่ธรรมชาติได้อีกครั้ง จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าเต่าที่เข้ามาในโครงการส่วนใหญ่เป็นเต่าบัว เต่านา เต่าหับ เต่าดำ เต่าเหลือง ตะพาบน้ำ รวมทั้งเต่าทะเล ที่มีอาการเจ็บป่วยจากการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ถูกคุกคามบุกรุกจากการขยายพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ได้รับอันตราย หรือ ประสบอุบัติเหตุในหลายกรณี เช่น ถูกรถทับ ติดเบ็ดหรืออุปกรณ์ประมงต่างๆ โดนมนุษย์หรือสัตว์อื่นทำร้าย และเต่าที่พิการไม่สามารถทำการปล่อยกลับสู่ธรรมชาติได้ ส่วนเต่าทะเลที่เข้ามารักษาที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ส่วนหนึ่งเป็นเต่าธรรมชาติที่ไม่มีเจ้าของหรือเป็นเต่าที่ลักลอบเลี้ยงมาแบบผิดวิธีแล้วนำมาบริจาค รวมถึงเต่าทะเลเกยตื้นที่กินขยะทะเลต่างๆ พวกพลาสติก เหรียญ สิ่งแปลกปลอม เต่าและตะพาบส่วนใหญ่จะเป็นเต่าที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ที่มีผู้ใจบุญพบเห็นแล้วช่วยเก็บมาเพื่อส่งให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้อง โดยสัตวแพทย์เฉพาะทางของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำที่มีความชำนาญในการรักษาเต่า แต่เนื่องจากผู้ที่นำมาส่งอาจมีทุนทรัพย์น้อยหรือไม่สะดวกในการจ่ายค่ารักษา จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยชีวิตสัตว์น้ำ โดยเปิดเป็นกองทุนรับบริจาคจากผู้ใจบุญที่ให้ความเมตตากับเต่าป่วยและพิการ แต่ค่าใช้จ่ายก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนเต่าที่เข้ามารักษาในโครงการ เนื่องจากการรักษาเต่าแต่ละตัว โดยเฉพาะเต่าที่ประสบอุบัติเหตุนั้นต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษานานกว่าจะหายเป็นปกติ ร่วมกับการใช้วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี เครื่องมือทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ จำนวนมากในการรักษา ซึ่งทางโครงการยังขาดแคลนและต้องการทุนในการจัดซื้ออย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำพบว่า ในแต่ละปีจะมีเต่า ตะพาบน้ำ และเต่าทะเล ที่ไม่มีเจ้าของเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนประมาณ 300-500 ตัว โดยแต่ละตัวจะมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นกับความเจ็บป่วย ระยะเวลาที่ป่วย หรือความรุนแรงของอุบัติเหตุที่ประสบมา เต่าบางรายที่มีอาการหนักและจำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัดในการรักษา จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 5,000-20,000 บาท โดยยังไม่รวมกับค่าอาหารอีกประมาณ 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน หลังจากที่สัตว์เหล่านี้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ ทางโครงการจะนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ตามอุทยานแห่งชาติ หรือ สถานที่ที่ห่างไกลจากชุมชนเมือง มีอาหารในธรรมชาติเพียงพอและเหมาะสม และเป็นแหล่งอาศัยท้องถิ่นของเต่าและตะพาบชนิดนั้นๆ เพื่อคืนชีวิตกลับคืนสู่ธรรมชาติ ให้สามารถดำรงชีวิตและแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคตได้ และยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์เต่าไทยในประเทศไทยให้มีชีวิตเเละจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น
“โครงการรักษ์ทะเล” ดำเนินการโดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ SCG ในการนำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ จึงขอเชิญชวนร่วมบริจาค เพื่อผลิตวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ก่อนนำไปวางใต้ท้องทะเล อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูทรัพยากรทางท้องทะเลอย่างยั่งยืน
188 ถนนสุวิทนทวงศ์ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี จ.กรุงเทพมหานคร 10510