ฟื้นฟูทักษะอาชีพทอผ้ากลุ่มผู้หญิง ในจังหวัดสุรินทร์ 20 คน

กองทุนเทใจช่วยเยาวชนและกลุ่มผู้หญิงฟื้นฟูทักษะอาชีพแก้วิกฤติเศรษฐกิจในชุมชน พื้นที่จังหวัดยะลา และสุรินทร์

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2023

มูลนิธิขวัญชุมชน พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จัด 3 กิจกรรม ต่อไปนี้

1. กิจกรรมการฟื้นฟูทักษะอาชีพทอผ้า ในกลุ่มผู้หญิง ผู้สูงอายุ และวัยแรงงานในชุมชน ตำบลจารพัต อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ช่วงระหว่างวันที่ 9-10 กรกฏาคม พ.ศ. 2565 สถานที่ ศาลาวัดบ้านพันษี และ กลุ่มทอผ้าบ้านจันทร์แสง จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ 20 คน

- การฟื้นฟูทักษะอาชีพทอผ้าไหมในชุมชนประกอบด้วย การเรียนรู้ร่วมกันในการนำพืชไม้ให้สี และสีธรรมชาติ ประกอบด้วย ครั่ง(สีแดง) คราม(สีน้ำเงิน) เข(สีเหลืองสด) ใบมะม่วงและใบยูคา(สีเหลืองอมน้ำตาล) , ดอกจาน (สีเหลืองทอง) , คำเงาะ (สีส้มสด) , มะเกลือ (สีดำ – น้ำตาล) เป็นวงแลกเปลี่ยนทักษะการปรับปรุงสีเพื่อให้ได้ใกล้เคียงมาตราฐานและมีเป้าหมายสำหรับการค้าขายสินค้าของชุมชน , การพัฒนาลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ และการตลาด (ผลิตผ้าให้ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเฉพาะ) โดยในด้านการตลาดเราได้ผลิตสินค้าผ้าไหมทอมือชุมชนขายผ่านเพจ Khwan Silk Crafts

- การลงพื้นที่ชุมชน เพื่อติดตามผลการผลิตตามกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยการลงติดตามเยี่ยมสมาชิกช่างทอที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และ วัยแรงงาน ที่มีภาระในการเลี้ยงดูเด็กเล็กวัยเรียนในชุมชน พื้นที่บ้านจันทร์แสง บ้านพม่า บ้านพันษี ตำบลจารพัต จำนวน ช่างทอผ้า 12 คน /ครัวเรือน และ บ้านปะนอย ตำบลหนองเหล็ก จำนวน 3 คน/ครัวเรือน รวมจำนวน 15 ครัวเรือน อยู่ในพื้นที่อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ภาพ : พูดคุยเพิ่มทักษะการเล่าเรื่องผ้าไหมของหมู่บ้าน และ ลวดลายผ้าไหมที่ได้จากสีธรรมชาติของชุมชนตนเอง เพื่อนำมาจัดเทศกาล “ขวัญเอย ไหมมา” เป็นเทศกาลเล่าเรื่องและจำหน่ายผ้าไหมออนไลน์ ระหว่างช่วงเดือน กรกฏาคม - สิงหาคม 2565 


2. การเสริมความเข้มแข็งให้กับกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเพิ่มทักษะด้านการจัดการ และเกิดเงินทุนหมุนเวียนแก่สมาชิกเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

- เงินทุนสนับสนุนของกองทุนเทใจ ไปช่วยให้ทีมมูลนิธิขวัญชุมชนสามารถขับเคลื่อนงานสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนให้กับช่างทอที่ขาดโอกาสและต้องการทุนในการตั้งต้นหรือต่อยอดกิจการในกระบวนการผลิตผ้าไหมทอมือด้วยกี่ไม้โบราณและกี่กระตุก โดยกองทุนนี้ได้มีการจัดตั้งชื่อว่า “กลุ่มออมทรัพย์ผ้าไหมสร้างสรรค์” ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 26 หมู่ที่ 5 บ้านพันษี ตำบลจารพัต อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

- ประโยชน์ตรงกับสมาชิกประกอบด้วย ผู้หญิงทอผ้าที่มีภาระในการเลี้ยงดูบุตรหลาน และผู้หญิงทอผ้าสูงอายุที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากมีความยากจน และ ไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน หรือมีความเร่งด่วนในการใช้เงินดำรงชีวิตประจำวัน ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสถาบันการเงินเพราะกลุ่มผู้หญิงทอผ้าส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำเป็นเรื่องยากมากเพราะไม่มีหลักทรัพย์คำประกัน การจัดตั้งรวมกลุ่มออมเพื่อการผลิตผ้าไหมนี้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหายามวิกฤติ เช่น เป็นเงินทุนในการจัดซื้อเส้นไหมที่มีคุณภาพ ค่าเดินทางมาเรียนในเมืองของลูกหลาน ค่าเทอม (การศึกษาบุตรหลาน) ค่าปุ๋ย (ช่วงฤดูกาลในการทำนาผลิตข้าว) และ ค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วยฯลฯ ปัจจุบันเราช่วยเหลือผู้หญิงทอผ้าที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วทั้งหมด 54 ครั้ง รวมเป็นเงินหมุนเวียนในกลุ่มออมทรัพย์เป็น ยอดเงินหมุนเวียนจำนวน 77,751.26 บาท (ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2565) ปัจจุบันกลุ่มออมฯ มีจำนวนสมาชิกเป็นกุล่มผู้หญิงทอผ้า, ผู้สูงอายุทอผ้า และเยาวชนตกงานในชุมชนรวมจำนวน 45 คน

3. การจัดทำแปลงเพาะกล้าไม้และปลูกพรรณไม้ให้สีเพิ่มเติม ต่อเนื่องจากการอบรมมาตราฐานการย้อมสีธรรมชาติในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 เราได้แจกเมล็ดพันธ์ครามเพื่อให้สมาชิกนำส่งปลูกรอบบ้านและในพื้นที่ว่างแปลงนาของครัวเรือนช่างทอ โดยเริ่มที่กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านจันทร์แสง หมู่ที่ 17 ตำบลจารพัต อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านแห่งนี้มีสมาชิกจำนวน 12 คน แต่การทำงานเพิ่มจำนวนไม้ให้สีประสบปัญหาน้ำท่วมแปลงนาในฤดูฝนในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนทอผ้าอย่างมากเพราะนอกจากน้ำจะท่วมแปลงครามแล้วยังท่วมขังแปลงปลูกข้าวอินทรีย์และข้าวไรซ์เบอร์รี่อีกด้วย

ความประทับใจจากผู้หญิงที่เข้าร่วมกิจกรรม


นางสาวเผือด ผนึกทอง ช่างทอผ้าสูงอายุอายุ 71 ปี บ้านจันทร์แสง หมู่ 17 ตำบลจารพัต เป็นผู้สูงอายุที่รับเลี้ยงหลานวัยรุ่นจำนวน 2 คนอายุ 12 และ 15 ปี หลานกำลังเรียนหนังสือ
แม่เผือด “รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก ตอนรับเงินที่ขายผ้าได้ยายดีใจจนนอนไม่หลับเลย น่าจะมีโครงการดีๆแบบนี้ตั้งแต่ตอนที่ยายเป็นสาว และการมาร่วมเรียนย้อมผ้าเราได้รู้จักช่างทอด้วยกันและคุยแลกเปลี่ยนวิธีการย้อมผ้าจะนำกับไปปรับปรุงการทอผ้าตนเองได้”


นางสายใจ คงทน เดิมไม่เคยทอผ้า รับจ้างทั่วไป เราอุดหนุนเส้นเครือยืนจำนวน 100 เมตรเพื่อให้ได้มีอาชีพทอผ้าเป็นรายได้เสริมและเป็นทุนเริ่มต้นในการทำอาชีพทอผ้า
“ตนเองเจ็บป่วยจากโควิค และป่วยด้วยโรคชิกุนกุนย่า ปวดตามเนื้อตัว ตอนช่วงโควิคลำบากมากเพราะต้องกักตัวครั้งละ 14 วันถึง 2 ครั้ง ไม่มีเงินและมีของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น รู้สึกดีใจมาก ทอผ้าได้มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน"


นางสาวปักษา มีทรัพย์ เดิมทำงานอยู่โรงงานทอผ้า อพยพย้ายกลับบ้านช่วงโรคระบาดโควิค – 19 และได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ น้าปักษาดูแลหลาน 2 คน ช่วงวัยประถม และกำลังจะต้องดูแลหลานน้อยวัย 2 เดือนอีก 1 คนเพราะพ่อแม่ของเด็กไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ “รู้สึกดีใจที่ได้มาทอผ้าอยู่ที่บ้าน เราได้มีงานทำและมีรายได้ อย่างน้อยก็ได้อยู่ที่บ้าน ได้ดูแลหลานๆที่พ่อแม่เขามาฝากไว้ให้เลี้ยง ทุกวันนี้มีความสุขกับงานที่ทำและคิดว่ามันดีกว่าตอนที่อยู่โรงงานน่ะ” ปัจจุบันน้าปักษาเป็นช่างทอที่ฝีมือดีมากคนหนึ่งของหมู่บ้าน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จำนวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ผู้หญิงทอผ้าที่ขาดโอกาสในตำบลจารพัตจำนวน 5 หมู่บ้านประกอบด้วยหมู่บ้านพันษี หมู่บ้านจันทร์แสง บ้านสะดอ บ้านโสภาเปรียง บ้านพม่า และตำบลหนองเหล็ก หมู่บ้านปะนอย บ้านลำหอก จำนวน 45 คน/ครัวเรือน
ผู้ได้รับประโยชน์ในครัวเรือนๆละ 3 คน รวมจำนวน 135 คน (เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง)

กลุ่มผู้หญิงทอผ้า แรงงานสมทบที่อยู่ในสายพานการผลิตผ้าไหม เช่นผู้สูงอายุ มีทักษะความชำนาญในการผลิตผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติ สามารถสร้างงานและรายได้ให้กับครัวเรือน และเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังลูกหลานของช่างทอผ้าในเรื่องการศึกษา เพราะรายได้จากการทอผ้าของครัวเรือนนั้นไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน ค่าอุปกรณ์การเรียนและค่าเทอมของบุตรหลาน