อบรม อสม. เป็น Super อสม. 40 คน ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

กระเป๋ายา(ใจ)แก่เพื่อนบนดอย

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2021

จากการดำเนินการใน เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2563 ดำเนินการโดยสาขาวิชามีเดียอาตส์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีกิจกรรม ดังนี้

ประเด็นที่ 1 สิ่งที่ทำไปแล้ว

โครงการได้มีการจัดทำกระเป๋ายาจำนวน 190 ใบ จำนวนเงิน 198,000 บาท โดยใช้งบประมาณจากการขอรับบริจาคผ่านมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยเพื่อเทใจดอทคอม เป็นเงิน 80,000 บาท และใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและกองทุนเพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ เป็นเงิน 118,000 บาท พร้อมทั้งดำเนินการจัดส่งไปยัง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมอบให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อสม.) ในพื้นที่จำนวน 111 แห่ง (แห่งละ 2-3 ใบตามขนาดชุมชน) พร้อมทั้งขอรับการบริจาคยาจากองค์การเภสัชกรรม ด้านยาพื้นฐานเบื้องต้นประกอบด้วย ยาและอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วย 33 ชนิด ได้แก่ 1) ยารับประทาน เช่น ยาพาราเซ็ทตามอล ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ฯลฯ 2) ยาใช้ภายนอก เช่น แอลกอร์ฮอล์ โพวีดิน ยาหม่อง ฯลฯ 3) อุปกรณ์สำหรับปฐมพยาบาล เช่น ที่เป่าปาก สำลี ผ้ายืด ผ้าก๊อซ และ 4) อุปกรณ์สำหรับวัดไข้ วัดความดัน สายวัดตัว เป็นต้น

ประเด็นที่ 2 สิ่งที่ดำเนินการอยู่

ภายหลังจากได้กระเป๋ายาพร้อมเวชภัณฑ์และยาบางส่วน รวมถึงนักศึกษาสาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้จัดทำสื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับการจัดอบรมการดูแลการเจ็บป่วยขั้นพื้นฐานที่ถูกต้องให้แก่ อสม.

กิจกรรมทำสื่อปฐมพยาบาลและกระเป๋ายา

มหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายการทำงานในและนอกพื้นที่ภาคเหนือทั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต โรงพยาบาลอมก๋อยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) 10 แห่ง และสถานบริการสาธารณสุข (สสช.) 21 แห่ง เพื่อจัดอบรมการปฐมพยาบาลและการใช้ยาและเวชภัณฑ์ให้แก่กลุ่ม อสม. หัวก้าวหน้าที่เรียกว่าโครงการ ซุปเปอร์ อสม. เพื่อดูแลสุขภาพ และการเจ็บป่วยขั้นพื้นฐานให้แก่ชาวบ้านในชุมชน ทั้งนี้ได้อบรม อสม. ไปแล้วจำนวน 30 คน

มหาวิทยาลัยได้สร้างเครือข่ายการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ที่มีความต่อเนื่องเพิ่มเติมเพื่อความยั่งยืนโดยการเปิดบัญชีเพื่อขอรับบริจาคเป็นกองทุนยาเพื่อคนบนบนดอย โดยหาทุนในการสนับสนุนยาสำหรับชุมชนในอนาคตรวมถึงเสนอให้มีการบรรจุแผนการดำเนินงานเพื่อขอรับบริจาคยาไปยังโรงพยาบาลอมก๋อยและ รพ.สต. เพื่อกระจายต่อให้กับ อสม. ในชุมชนอย่างยั่งยืน


ปัจจุบันได้จัดอบรม Super อสม. แล้ว 40 คน จาก 11 หย่อมบ้าน เรื่องการปฐมพยาบาล มอบกระเป๋ายาให้ Super อสม. ไปใช้แล้ว 19 ใบ (หย่อมบ้านละ 1-2 ใบ) มีรายละเอียดการอบรม คือ

  1. เดือนสิงหาคม 63 อบรม super อสม. หย่อมบ้านพะเบี้ยว บ้านราชา และบ้านมอคี ตำบลสบโขง จำนวน 7 คน มอบกระเป๋ายาไปใช้ 5 ใบ
  2. เดือนตุลาคม 63 อบรม Super อสม. หย่อมบ้านแม่ระมีดหลวง บ้านแม่ระมีดน้อย บ้านยองแหละ ตำบลอมก๋อย จำวน 12 คน มอบกระเป๋ายาไปใช้ 4 ใบ
  3. เดือนธันวาคม 63 อบรม Super อสม. หย่อมบ้านทีผะแหล่ บ้านมอโพคี บ้านวาเมทะ บ้านสะเรเด่คี บ้านทิตะอึคี ต.สบโขง จำนวน 20 คน มอบกระเป๋ายาไปใช้ 10 ใบ

การอบรมทักษะการใช้ยาพื้นฐานและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

กิจกรรมให้ความรู้และฝึกทักษะซุปเปอร์ อสม.

ขณะเดียวกัน Super อสม. ได้จดบันทึกการใช้ยาและอุปกรณ์ในเป๋ายา เพื่อให้ทราบถึงจำนวนคนและอาการป่วยที่ชาวบ้านมาใช้บริการ รวมถึงปริมาณการใช้ยาและอุกรณ์ในกระเป๋ายา เพื่อวางแผนการเบิกยา/อุปกรณ์มาเติมในกระเป๋ายาให้มีใช้อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลเบื้องต้นหลังการอบรม พบว่า บ้านราชามีชาวบ้านมาขอใช้บริการจาก Super อสม.มากที่สุด จำนวน 57 คน รองลงมาเป็นบ้านพะเบี้ยว 45 คน และบ้านมอคี 37 คน ด้วยอาการ 1) ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ คัดจมูก ปวดหัว(มีไข้) และน้ำมูกไหล 2) ระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ ปวดหลัง ปวดขา ปวดแขน ปวดหัว(ไม่มีไข้) 3) ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก แสดงดังแผนภูมิ

**หมายเหตุ : หย่อมบ้านทีผะแหล่ ฯลฯ อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล

ประเด็นที่ 3 สิ่งที่จะทำในอนาคต

การวางแผนพัฒนาบุคลากรในชุมชนโดยเฉพาะกลุ่ม อสม. ที่จะเป็นตัวแทนทางสาธารณสุขในการดูแลรักษาสุขภาพคนในชุมชนเบื้องต้นก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลเพื่อลดปัญหาการเดินทางที่ลำบากในช่วงหน้าฝนรวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่คนในชุมชนและทำให้ชุมชนเข้าใจ และเห็นความสำคัญ การดูแลสุขภาพ

สรุปความท้าทายในการสร้างความยั่งยืน

ในอนาคตเราอยากเห็นชุมชนมีสุขภาวะและสุขภาพที่ดีโดยเน้นในเรื่องของการพัฒนาและการกระจายความรู้แก่คนเพื่อเสนอแนะแนวทางในการปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิต ลดการพึ่งพาปัจจัยด้านต่างๆ จากภายนอกสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีความรู้ในการดูแลลูกหลานต่อไปในอนาคต

จากการทำงานมาตลอดระยะเวลา 8 เดือน ในโครงการนี้ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในชุมชนด้านสุขภาพในชุมชนพื้นที่สูง โดยเฉพาะในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 111 แห่ง 500 หลังคาเรือน และจะยังคงพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่องควบคู่กับชุมชนต่อไป เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนชาวไทยภูเขาในพื้นที่ประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ขอขอบคุณการสนับสนุนการเป็นสื่อกลางของเทใจดอทคอม ในการช่วยประชาสัมพันธ์และเปิดรับบริจาคมา ณ ที่นี้

ผศ.ดร.ศิริก้อย ชุตาทวีสวัสดิ์

อาจารย์สาขาวิชามีเดียอาตส์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี