สรุปโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสาน

ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2020

จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคอีสาน ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ได้รับความเสียหายในวงกว้าง มูลนิธิกระจกเงา ในบทบาทขององค์กรที่มีประสบการณ์ในการจัดการอาสาสมัครในเหตุการณ์ภัยพิบัติ ได้ลงพื้นที่เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยปักหมุดพื้นที่แรกที่ อ.บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ 5 ชุมชน 1 องค์กร ได้แก่ ชุมชนซอยศาลเจ้า, ชุมชนพัฒนาชนบท1, ชุมชนมิตรภาพซอย4, ชุมชนสุมนามัย และชุมชนแสงทอง รวมถึงมูลนิธิพุทธญาณสมาคม


กิจรรมที่ดำเนินงานประกอบไปด้วย

กิจกรรมอาสาล้างบ้าน ระดมอาสาสมัคร เข้าล้างบ้าน ทำความสะอาดชุมชนผู้ประสบภัย โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วม 3 รุ่น รวม 130 คน

กิจกรรมซ่อมสร้างบ้านผู้ประสบภัยยากไร้

กิจกรรมส่งมอบของบริจาคถึงผู้ประสบภัย ประกอบด้วย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ของอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ทำความสะอาด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ชุดเครื่องนอน ชุดนักเรียน เป็นต้น

รายละเอียดผลการดำเนินงาน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น 6 พื้นที่ ดังนี้

1. ชุมชนซอยศาลเจ้า

  • อาสาสมัครลงพื้นที่ล้างบ้าน 40 หลังคาเรือน
  • ซ่อมแซมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน 3 หลังคาเรือน
  • มอบเสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน โทรศัพท์มือถือสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของอุปโภคบริโภค จำนวนรวม 93 หลังคาเรือน

2. ชุมชนพัฒนาชนบท 1

  • มอบงบประมาณในการสร้างบ้าน และสนับสนุนอุปกรณ์ก่อสร้าง ประกอบไปด้วย เสา หลังคาเมทัลชีท เหล็ก 1 หลังคาเรือน
  • ซ่อมแซมบ้านผู้ประสบภัย 3 หลังคาเรือน
  • มอบเสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำความสะอาด ของอุปโภคบริโภค

3.ชุมชนมิตรภาพซอย 4

  • นำอาสาสมัครล้างบ้าน 5 หลังคาเรือน
  • มอบงบประมาณ พร้อมอุปกรณ์การก่อสร้างประกอบไปด้วย เสา หลังคาเมทัลชีท เหล็ก 3 หลังคาเรือน
  • มอบเสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำความสะอาด ของอุปโภคบริโภค 

4.ชุมชนสุมนามัย

  • นำอาสาสมัครล้างบ้าน 5 หลังคาเรือน
  • มอบงบประมาณ พร้อมอุปกรณ์การก่อสร้างประกอบไปด้วย เสา หลังคาเมทัลชีท เหล็ก 4 หลังคาเรือน
  • มอบเสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำความสะอาด ของอุปโภคบริโภค

5 ชุมชนแสงทอง

  • นำอาสาสมัครล้างบ้าน 12 หลังคาเรือน
  • เข้าเคลียร์ขยะเฟอร์นิเจอร์ที่ลอยมากับน้ำท่วมบริเวณถนนหมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้าน
  • เข้าเยี่ยม เยียวยาบ้านผู้ประสบภัยที่ป่วยติดเตียง พร้อมมอบของอุปโภคบริโภค ชุดเครื่องนอน ยารักษาโรค เครื่องใช้ไฟฟ้า 2 ครัวเรือน
  • มอบเสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน โทรศัพท์มือถือสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำความสะอาด ของอุปโภคบริโภค จำนวนรวม 110 หลังคาเรือน

6.มอบชุดนักเรียนแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านไผ่แสงทองประชาสรรค์ จำนวน 131 ชุด

7. มูลนิธิพุทธญาณสมาคม นำอาสาสมัครล้างทำความสะอาดพื้นที่ และสนับสนุนเสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน โทรศัพท์มือถือสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำความสะอาด ของอุปโภคบริโภค

8. จัดหา และนำกำลังรถฉีดน้ำ รถดั้ม และแมคโคร เข้าทำความสะอาดเก็บขยะเฟอร์นิเจอร์ที่ลอยมากับน้ำออก

“อยู่ริมคลองอ่ะ น้ำมาทุกปีนะ แต่มันมาคืนเดียว แล้วไม่สูง ไม่แรงแบบนี้ ปีนี้แหละปร ะวัติศาสตร์เลย ห้าทุ่มฉายไฟฉายไปหลังบ้าน โอ้ย น้ำมาแล้ว แปบเเดียวน้ำถึงอกแล้ว รีบออกไปถนนใหญ่ มอไซค์ยังเอาออกไปไม่ทันเลย ได้แค่เสื้อผ้าใส่ติดตัว กระเป๋าสตางค์กับบัตรประชาชน

“ขึ้นไปบนถนนใหญ่(ถนนมิตรภาพ) ยืนมองมาตรงบ้าน คิดว่าไม่เหลืออะไรแล้ว (ร้องไห้) น้ำตามันไหลเลยนะ “กูไม่เหลืออะไรแล้ว” จำตู้เย็นได้ มันลอยไปต่อหน้าเลย ได้แค่มอง เป็นห่วงญาติพี่น้องด้วย ยังไม่มีใครออกมาเลย น้ำมันมาเกินหลังคาบ้าน พยายามหาเรือไปช่วย แต่มันอันตรายมา เรือยังเข้าไม่ได้ ประมาณ 3-4 วัน น้ำลด

“ทำงานได้ค่าจ้างวันละ 300 ไม่ไปทำก็ไม่ได้เงิน ตั้งแต่น้ำท่วมมาสามอาทิตย์ไม่ได้ไปทำงานเลยนะ มันไม่มีกระจิตกระใจเลย เหมือนชีวิตไม่เหลืออะไรแล้ว ทุกวันนี้รอนะ ว่าใครจะเข้ามา ถ้าเราออกไปทำงานตอนนี้ ราชการเข้ามาไม่เจอเรา เราก็ตกสำรวจอีก ตอนนี้ทุกคนรอหมดเลย เพราะมันไม่เหลืออะไร ถ้ามีเงินเก็บ เราไม่รอใครช่วยแล้ว เราช่วยตัวเองแล้วแหละ แต่นี่ไม่มี มีแต่หนี้ . เหลือแค่เอว กลับเข้าไปดูบ้าน นั่งร้องไห้อย่างเดียวเลย ไม่รู้ตอนไหนจะสร้างได้อีก คิดจะตั้งรกรากตรงนี้แล้ว มันไม่เหลืออะไรเลย

“มันยากนะ บ้านไม่มีเลขที่” เจ้าหน้าที่เขาบอกเราแบบนี้ ตอนเขามาสำรวจ เขาช่วยตามบ้านเลขที่ก่อน ฟังแล้วท้อเลย ก่อนหน้าน้ำท่วมเราเคยไปขอบ้านเลขที่กับเทศบาลนะ แต่เขาไม่ให้ เขาบอกว่าหลังคามันติดกับบ้านพี่สาว มันคือหลังเดียวกัน แต่เรากั้นพื้นที่เป็นบ้านของเราไง เราอยากมีเลขที่บ้าน มันเป็นบ้านเรา เราจะได้ขอน้ำขอไฟเองได้ ทุกวันนี้พ่วงเขา ต้องจ่ายหารครึ่ง

“มันเจ็บนะ คำว่าบ้านไม่มีเลขที่บ้านแล้วช่วยไม่ได้ เพราะบ้านเราพังทั้งหลัง มันเล็กนะ แต่มันเป็นบ้าน ถ้าเรารวย เราอยู่ตึกแล้ว ไม่มาอยู่ตรงนี้หรอก ทุกวันนี้ยังใส่ชุดบริจาคอยู่เลย มันไม่เหลืออะไร เขาบอกให้รอ ก็ไม่รู้ตอนไหน จะมีการช่วยเหลือคนที่ไม่มีเลขที่บ้าน เห็นคนอื่นเขาได้รับการช่วยเหลือแล้ว น้ำตาไหลเลย บ้านเราก็ไปทั้งหลังเหมือนกัน. .

“มีบ้านคือมีหลักไง เราอยากมีหลักในชีวิต ไม่ได้โทษใครนะ รู้ว่าพายุจะมา น้ำจะมา แค่ไม่คิดว่ามันจะขนาดนี้ เข้าใจกับเหตุการณ์ แค่น้อยใจว่าบ้านเราพังแต่เราไม่ได้สิทธิ์ในการช่วยเหลือเรื่องบ้านเลย”

หลังเหตุการณ์น้ำท่วม พี่อำไพลงทุนซื้อที่ดินผืนน้อยในราคาหลักหมื่น เพื่อปลูกบ้านเป็นของตนเอง มูลนิธิได้สนับสนุนอุปกรณ์ก่อสร้าง เหล็กโครงหลังคา สำหรับปลูกบ้านใหม่ วันที่พวกเราถอนตัวออกมา เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อที่จังหวัดอุบลราชธานี พี่อำไพโทรติดต่อทีมงาน พร้อมพูดขอบคุณซ้ำๆ คำขอบคุณนั้น ส่งต่อถึงผู้บริจาคที่ให้ความช่วยเหลือ .

-นางอำไพ สีหาบุญ อายุ 44 ปี- ชาวบ้านชุมชนมิตรภาพซอย 4 อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ผู้ได้รับผลกระทบหลังพายุโพดุลถล่ม