มอบสื่อการเรียนรู้ให้เด็กเล็ก 854 คน ใน 20 ศูนย์ฯ จ.ลพบุรี

High Scope พัฒนาเด็กอนุบาลเน้นการลงมือทำ

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2019

โครงการส่งเสริมศักยภาพให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ศพด.) ที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดลพบุรี ได้ใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High scope โดยส่งครูเข้ารับการอบรม (on site training) ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนให้เด็กเรียนรู้ผ่านการลงมือกระทำด้วยตนเองเด็กเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้หรือเรียกว่า child center เป็นการเรียนรู้วิชาการผ่านการเล่นของเด็กๆ ผ่านมุมกระตุ้นพัฒนาการหรือมุมของเล่นอย่างน้อย 5 มุม มีรายละเอียดดังนี้

1) มุมหนังสือ ได้แก่ นิทานและชั้นวางหนังสือ ให้เด็กๆ เลือกนิทานที่ชอบมาเปิดดู หรือให้คุณครูอ่านให้ฟัง

2)มุมศิลปะ ได้แก่ ดินน้ำมัน กระดาษ อุปกรณ์ระบายสี เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามจินตนาการ

3) มุมวิทยาศาสตร์ ได้แก่ อุปกรณ์จำลองและอุปกรณ์จริง เพื่อนเรียนรู้การใช้และเข้าใจ ความสัมพันธ์ของสิ่งของ เช่น ลูกโลก ตราชั่ง แว่นขยาย 

4) มุมบล็อก บล็อกไม้หรือตัวต่อเพื่อประกอบเป็นสิ่งต่างๆ ตามความคิด และจินตนาการ

5) มุมบ้าน ชุดเครื่องครัว อุปกรณ์สำหรับเล่นบทบาทสมมติ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมการจัดการเรียนการสอนแบบ High scope จำนวน 20 ศูนย์ มีเด็กได้รับการกระตุ้น พัฒนาการผ่านการเล่นโดยครูเป็นผู้ดูแล 854 คน และภายหลังที่ “เทใจดอทคอม” ได้ระดมทุนช่วยเหลือ ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กจึงได้กระจายของเล่นให้แต่ละศูนย์ตามของเล่นที่จะซื้อทั้ง 20 ศูนย์ ดังนี้ 

  1. เทศบาลตำบลถนนใหญ่
  2. ศูนย์การบินทหารบก
  3. เทศบาลตำบลเขาพระงาม
  4. ดงน้อย
  5. อบต.บางคู้
  6. วัดหัวสำโรง
  7. วัดบ้านกล้วย
  8. บ้านนกเขาเปล้า
  9. บ้านหนองปล้อง
  10. เพนียด
  11. อบต.วังขอนขว้าง
  12. อบต.ดงมะรุม
  13. บ้านหนองโก
  14. อบต.ท่ามะนาว
  15. อบต.ห้วยหิน
  16. อบต.ยางราก
  17. ทต.พัฒนานิคม
  18. ร.ร.บ้านหนองโพธิ์
  19. อบต.เขาน้อย
  20. ร.ร.บ้านหนองประดู่

ภาพมอบของเล่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก




ผลการประเมินพัฒนาการของเด็ก

เด็กอายุ 3-4 ปี ของจังหวัดลพบุรีที่ผ่านการใช้ high scope 6 เดือน และใช้ของเล่น ทำให้เด็กมีทักษะทางสมองสูงกว่าค่ากลางของประเทศ

ผลการประเมินพัฒนาการเด็กเมื่อผ่านการใช้ของเล่นตามมุมประมาณ 6 เดือน ตามที่ได้นำเสนอไปนั้น ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วัดพัฒนาการเด็กเรื่อง ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จหรือ Executive function (EF) ในเด็กอายุ 3-4 ปี โดยใช้แบบประเมิน MU.EF-101 สุ่มเลือกศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 5 ศูนย์ จาก 20 ศูนย์ ที่ได้จัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ high scope และได้ใช้ของเล่นที่ “เทใจ” ระดมทุนสนับสนุน มีผลการประเมินเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานเด็กไทย อายุ 2-6 ปี ดังนี้


ผลการสุ่มประเมิน EF ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ผ่านการใช้ high scope จำนวน 5 ศูนย์ เทียบกับค่ากลางของประเทศไทย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ค่าคะแนนเฉลี่ย <40 (ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยควรปรับปรุง) พบร้อยละ 0.6 ซึ่งน้อยกว่าค่ากลางของประเทศซึ่งพบร้อยละ 14, ค่าคะแนนเฉลี่ย 40-44 (ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อยควรพัฒนา) พบร้อยละ 0.6 ซึ่งน้อยกว่าค่ากลางของประเทศซึ่งพบร้อยละ 14, ค่าคะแนนเฉลี่ย 45-55 (เกณฑ์เฉลี่ยปานกลาง) พบร้อยละ 42.90 ซึ่งมากกว่าค่ากลางของประเทศร้อยละ 38, ค่าคะแนนเฉลี่ย 56-60 (สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อย ดี) พบร้อยละ 26.70 ซึ่งมากกว่าค่ากลางประเทศร้อยละ16 และค่าคะแนนเฉลี่ย >60 (สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ดีมาก) พบร้อยละ 29.20 ซึ่งมากกว่าค่ากลางของประเทศร้อยละ 18