นักเรียนที่ได้รับทุนจาก 100 lives challenge

100 liveschallenge

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2017

สวัสดีค่ะ Life Heroes ทุกท่าน

เมื่อปีที่แล้ว พวกเรารวมกันกว่า 400 ชีวิต/ครอบครัว/องค์กร ได้ร่วมกันส่งน้องๆทั้งหมด 122 คน (จากตอนต้นที่ตั้งเป้าไว้ที่ 100 คน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแคมเปญ #100liveschallenge) จากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นสามจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนต่ำที่สุดในประเทศไทย (ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558) ให้ได้ทุนการศึกษาเพื่อเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นเวลา 3 ปี (ม. 1 – ม.3) โดยนักเรียนทุน 122 คน แบ่งเป็นนักเรียนหญิงจำนวน 84 คน และนักเรียนชายจำนวน 38 คน โดยรายชื่อนักเรียน โรงเรียน และอำเภอที่น้องๆเรียนอยู่จะอยู่ตอนท้ายของจดหมายแจ้งข่าวนี้ค่ะ

เชียงใหม่เชียงรายแม่ฮ่องสอน
  • 38 คน (หญิง 27 คน และชาย 11 คน)
  • 14 อำเภอ 24 โรงเรียน
  • 32 คน (หญิง 24 คน และชาย 8 คน)
  • 13 อำเภอ 18 โรงเรียน
  • 52 คน (หญิง 33 คน และชาย 19 คน)
  • 8 อำเภอ 18 โรงเรียน

ทาง TYPN ได้ร่วมมือกับมูลนิธิยุวพัฒน์ที่ช่วยพวกเราตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกไปจนถึงการติดตามดูแลนักเรียนตลอดช่วงการให้ทุนค่ะ โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ได้อ้างอิงเกณฑ์รายได้จากกระบวนการคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกำหนดให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน และพิจารณาเพิ่มเติมจากความเห็นของคุณครูโรงเรียนประถมศึกษา และเรียงความขอทุนของนักเรียน โดยกระจายข่าวผ่านโรงเรียนประถมศึกษา และสำนักงานเขตการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดเป้าหมายของโครงการค่ะ หลังจากปิดการระดมทุนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ทางมูลนิธิยุวพัฒน์ได้พิจารณาคัดเลือกนักเรียนทุนในเดือนมกราคม 2560 แล้วประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับทุนบนเว็บไซท์ของมูลนิธิฯ รวมทั้งกระจายข่าวเพื่อให้นักเรียนทราบผ่านคุณครู โรงเรียน และสำนักงานเขตการศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 และสอบปลายภาคของนักเรียนรุ่นนี้ค่ะ 

นักเรียนจะยืนยันสิทธิ์รับทุนได้ก็ต่อเมื่อส่งหลักฐานการเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา และส่งเอกสารหน้าบัญชีธนาคารซึ่งเป็นชื่อของนักเรียนมาที่มูลนิธิยุวพัฒน์ค่ะ ซึ่งกระบวนการนี้เริ่มต้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นการเปิดภาคเรียนเทอม 1 ของปีการศึกษา 2560 (นักเรียนทุนของพวกเราเริ่มเข้าเรียน ม. 1) และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการดำเนินการออกเอกสารรับรองสถานะการเป็นนักเรียน และการที่ผู้ปกครอง/อาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์แนะแนวในโรงเรียนมัธยมฯ ช่วยดำเนินการเปิดบัญชีธนาคารให้กับเด็กและส่งเอกสารมาที่มูลนิธิยุวพัฒน์ค่ะ โดยนักเรียนส่วนใหญ่มีบัญชีธนาคารในชื่อตัวเองเป็นครั้งแรกตอนได้รับทุนนี้ค่ะ หลังจากที่มูลนิธิยุวพัฒน์ได้รับเอกสารครบแล้ว จะดำเนินการโอนเงินทุนจำนวน 3,500 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหนึ่งภาคเรียนให้กับนักเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์แนะแนวในโรงเรียนมัธยมช่วยตรวจสอบบัญชีรายจ่ายของนักเรียนให้ระหว่างเทอมค่ะ นักเรียนจะได้รับเงินทุนเป็นรายเทอม โดยหลังจากจบภาคเรียนแล้ว นักเรียนจะต้องส่งผลการเรียน (transcript) และเอกสารยืนยันสถานะการเป็นนักเรียนจากโรงเรียนมาที่มูลนิธิยุวพัฒน์ (รวมทั้งจดหมายเล่าเรื่องชีวิตความเป็นไป – optional) ก่อนจะได้รับการโอนเงินสำหรับภาคเรียนต่อไปเข้ามาในบัญชีของเด็กค่ะ ทั้งนี้ นักเรียนทุนทุกคนได้รับเงินสำหรับภาคเรียนที่ 1 ทั้งหมดแล้วค่ะ

ปัจจุบัน ณ เดือนธันวาคม 2560 นักเรียนเพิ่งเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2 เมื่อตอนต้นเดือนค่ะ เด็กๆได้ทยอยส่งจดหมายรายงานความก้าวหน้า และผลการเรียนจากเทอมที่ 1 (ม.1 เทอม 1) ทางมูลนิธิยุวพัฒน์ได้ทยอยโอนเงินสำหรับภาคเรียนที่ 2 ให้กับนักเรียนที่ส่งเอกสารเข้ามาแล้ว และจะติดตามนักเรียนส่วนที่เหลือให้ส่งหลักฐานและดำเนินการโอนเงินภาคเรียนที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2561 ค่ะ และหลังจากที่มูลนิธิยุวพัฒน์ได้รับผลการเรียนและจดหมายครบแล้ว (คาดว่าน่าจะประมาณเดือนเมษายน 2561) ทางเราจะมารายงานให้ทุกท่านทราบอีกทีนะคะ ว่าน้องๆเรียนกันเป็นยังไงบ้าง

นอกจากการติดตามผ่านกลไกและกระบวนการทำงานของมูลนิธิยุวพัฒน์แล้ว ทีม TYPN ประมาณ 6 คน ได้สลับกันลงพื้นที่ในช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมาเพื่อเจอนักเรียนทุน คุณครูโรงเรียนประถม อาจารย์ที่ปรึกษา/อาจารย์แนะแนวในโรงเรียนมัธยม และพบผู้ปกครองของนักเรียนทุน ในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งเด็กๆที่เราได้ไปเจอทุกคนมีความใฝ่ดี อยากเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และครอบครัว (ไม่ว่าจะอยู่กับพ่อ แม่ และ/หรือปู่ย่าตายาย) ก็สนับสนุนอยากให้ลูกหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือ น้องๆได้นำเงินทุนที่ได้ไปใช้สำหรับรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น ค่าชุดลูกเสือ/เนตรนารี ค่าเดินทางไปโรงเรียน ค่าอาหารกลางวัน ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมให้โรงเรียนเพื่อจ้างครูสอนภาษาอังกฤษชาวต่างชาติ เป็นต้น และมีน้องๆส่วนหนึ่งที่ยังเก็บเงินทุนไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินของครอบครัว คุณครูพูดค่อนข้างตรงกันว่าเด็กส่วนใหญ่จะได้เรียนจนจบ ม.3 เพราะทุกครอบครัวก็อยากให้ลูกหลานได้มีวิชาความรู้ และการเรียนจนจบ ม. 3 ก็เป็นข้อกำหนดพื้นฐานตามกฏหมายซึ่งครอบครัวในต่างจังหวัดคิดว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ต่อให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อส่งเรียนก็ต้องให้เด็กๆได้เรียนจนจบ ม. 3 เด็กๆส่วนใหญ่ ถ้าครอบครัวค่อนข้างจนมากจะเรียนต่อจนจบ ม.3 แล้วต้องออกมาหางานทำ ถ้ามีโอกาสมากกว่าหน่อยจะได้เรียนต่อยอดจนจบ ปวช.หรือ ม.6 หรือบางคนมีโอกาสไปต่อถึงระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า) แต่ในหลายกรณีมักจะเป็นการเรียนสลับกับหยุดทำงานเป็นบางปี หรือเรียนคู่ไปกับการทำงานหลังจากจบ ม. 3


การได้ลงพื้นที่ทำให้ทีมกลับมาตั้งโจทย์ใหม่ว่าสิ่งที่เราสนับสนุนในปัจจุบันจะช่วยต่อยอดอนาคตให้เด็กๆได้จริงมากน้อยแค่ไหน นำมาสู่การหาข้อมูลเพิ่มเติม และขอข้อมูลเชิงลึก (insight) จากภาคีของ TYPN เพื่อพัฒนางานต่อ รวมทั้งสร้างฐานความรู้/ข้อมูลที่จะทำให้งานในปีต่อไปเข้าถึงกลุ่มเด็กและครอบครัวที่ขาดโอกาสที่สุดในสังคมไทย จึงเป็นที่มาของโครงการ Life Hero ที่เราอยากจะชวนเพื่อนๆกลุ่มใหญ่ขึ้นที่มีความสนใจตรงกันที่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำในประเทศมาร่วมลงแรงลงความถนัด เป็นฮีโร่เปลี่ยนชีวิตน้องๆด้วยกัน เพื่อสร้าง the next generation of life heroes ให้กับสังคมไทย โดยโครงการในปีนี้มีการพัฒนาเครื่องมือเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการให้ทุนการศึกษาปีที่แล้ว คือ การเพิ่มเรื่องการวางแผนชีวิตและระบบพี่เลี้ยง และการทำแนะแนวเรื่องการเรียนต่อหลังจบ ม. 3 และอาชีพ เพื่อให้เด็กๆที่เราสนับสนุนได้มีโอกาสพัฒนาทุนชีวิต สร้างอนาคตให้กับตนเองและครอบครัวได้ต่อไป

ถ้าพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ สนใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยด้วยการให้โอกาสการศึกษากับครอบครัวที่ด้อยโอกาสในประเทศไทยต่อไปกับพวกเรา อยากขอเชิญทุกท่านมาร่วมแคมเปญกับพวกเราต่อได้ที่ lifeherothailand.com ซึ่งกำลังระดมเงินเพื่อทำงานต่อในปีการศึกษา 2561 เพื่อสนับสนุนนักเรียน 200 คน (และกลับไปสร้างระบบพี่เลี้ยงและแนะแนวอาชีพให้อีก 122 คนจากปีที่แล้ว) ในระยะที่ 1 (Phase 1) จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2561 นี้ค่ะ (ถ้าท่านต้องการนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีสำหรับปีบัญชี 2560 ต้องบริจาคภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 นะคะ โดยการบริจาคผ่าน Life Hero จะสามารถลดหย่อนภาษีได้หนึ่งเท่าค่ะ) และในระหว่างนี้ถ้าท่านต้องการรับทราบความเป็นไปเพิ่มเติม หรือติดตามว่าจะมีการพบปะ/การลงพื้นที่/กิจกรรมต่อเนื่องจาก #100liveschallenge มาเป็น Life Hero สามารถติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/lifeherothailand/

ขอบคุณมากค่ะที่มาร่วมเปลี่ยน 122 ชีวิตไปด้วยกัน หวังว่าทุกท่านจะมาร่วมกันต่อเพื่อสร้างโอกาสให้อีก 200 ครอบครัวมีโอกาสสร้างชีวิตที่ดีกว่ากับเราในปีนี้ค่ะ และนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่คนรุ่นพวกเราจะรวมพลังกันเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมให้เกิดขึ้นภายในช่วงชีวิตของเรา

ขอบคุณมากค่ะ

ทีม Life Hero (#100liveschallenge)


รายชื่อนักเรียนทุน #100liveschallenge ปีการศึกษา 2560

จังหวัดเชียงใหม่

พวกเรามีนักเรียนทุนอยู่จังหวัดเชียงรายทั้งหมด 38 คน แบ่งเป็นนักเรียนหญิง 27 คน และนักเรียนชาย 11 คน กระจายอยู่ใน 14 อำเภอ (อำเภอเชียงดาว 6 คน ดอยสะเก็ด 2 คน ดอยหล่อ 3 คน พร้าว 1 คน เมืองเชียงใหม่ 5 คน แม่แจ่ม 1 คน แม่แตง 2 คน แม่ริม 1 คน สันกำแพง 1 คน สันทราย 3 คน สันป่าตอง 3 คน หางดง 1 คน อมก๋อย 2 คน และฮอด 7 คน) และ 24 โรงเรียนทั่วจังหวัด ดังรายชื่อต่อไปนี้ค่ะ


จังหวัดเชียงราย

พวกเรามีนักเรียนทุนอยู่จังหวัดเชียงรายทั้งหมด 32 คน แบ่งเป็นนักเรียนหญิง 24 คน และนักเรียนชาย 8 คน กระจายอยู่ใน 13 อำเภอ (อำเภอเชียงของ 1 คน เชียงแสน 1 คน ดอยหลวง 5 คน เทิง 1 คน พาน 4 คน เมืองเชียงราย 2 คน แม่จัน 5 คน แม่ฟ้าหลวง 2 คน แม่สรวย 6 คน แม่สาย 1 คน เวียงชัย 2 คน เวียงเชียงรุ้ง 1 คน และเวียงป่าเป้า 1 คน) และ 18 โรงเรียนทั่วจังหวัด ดังรายชื่อต่อไปนี้ค่ะ


จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พวกเรามีนักเรียนทุนอยู่จังหวัดแม่ฮ่องทั้งหมด 52 คน แบ่งเป็นนักเรียนหญิง 33 คน และนักเรียนชาย 19 คน กระจายอยู่ใน 8 อำเภอ (อำเภอขุนยวม 3 คน ปางมะผ้า 6 คน ปาย 6 คน เมืองแม่ฮ่องสอน 8 คน แม่ลาน้อย 9 คน แม่สะเรียง 16 คน สบเมย 4 คน และพาน 1 คน) และ 18 โรงเรียนทั่วจังหวัด ดังรายชื่อต่อไปนี้ค่ะ


ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทย

  • เด็กวัยเรียนอายุ 6 - 14 ปีประมาณ 1.8 ล้านคนมีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบก่อนจบ ม.3 เนื่องจากสถานะความยากจนของครอบครัว
  • ปัญหาความยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของความด้อยโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนในระบบการศึกษาของไทย (99% ของนักเรียนด้อยโอกาสซึ่งมีจำนวนกว่าร้อยละ 40 ของนักเรียนทั้งหมดในระบบการศึกษาระบุว่าครอบครัวมีปัญหาความยากจน) และเป็นสาเหตุหลักของการหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับและขั้นพื้นฐาน รวมถึงการเข้าเรียนล่าช้า
  • รายจ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือน มีความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูงมาก ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำสุดดที่ร้อยละ 10 แรกของประเทศ (bottom 10%) และครอบครัวที่มีรายได้สูงที่สุดร้อยละ 10 แรกของประเทศ (top 10%) มีรายจ่ายด้านการศึกษาแตกต่างกันถึง 12 เท่า และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 30-50 ของรายได้ครัวเรือน ซึ่งถือเป็นภาระอันหนักอึ้งของครอบครัวยากจนในการสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานตลอด 12 - 15 ปีในระบบการศึกษา
  • ปัจจุบันงบประมาณด้านการศึกษาคิดเป็น 22% ของงบประมาณแผ่นดิน (มากกว่า 500,000 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นรายจ่ายอันดับ 1 ของประเทศทุกปี แม้รัฐจะจัดสรรงบประมาณเหล่านี้ผ่านโครงการเรียนฟรี 15 ปี แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวยากจนที่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มด้านการศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ค่าอาหารเช้า/อาหารกลางวัน และค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียน ตำรา และค่าเครื่องแบบ
  • ระบบการศึกษาไทยจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อนักเรียนยากจนเพียง 2,900 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.5 ของงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาทั้งหมดของประเทศ (มากกว่า 500,000 ล้านบาท) หรือเท่ากับ 5 บาทต่อคนต่อวัน
  • 5% ของเยาวชนจากครัวเรือน bottom 20% มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 35% และ 100% สำหรับเยาวชนจากครอบครัว top 40% (ความเหลื่อมล้ำในโอกาสสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาที่ 7 เท่า)
  • ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง (High-skilled labor) ต่ำกว่า 20% ในขณะที่การพัฒนาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำเป็นต้องใช้แรงงานทักษะขั้นสูงมากกว่า 50% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ

ที่มา : ฐานข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และฐานข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ประมวลข้อมูลโดย คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)