สร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง 56 คน ให้การศึกษาที่มีคุณภาพให้นักเรียนทั่วประเทศ

Teach For Thailand โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2023

ทางมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกจนได้ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9 มาจำนวน 56 คน จัดการอบรมเป็นเวลา 2 เดือน และได้ส่งไปปฏิบัติงานสอนใน 3 วิชา คือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ใน 50 โรงเรียนทั่วประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ร่วมกับครูผู้นำฯ รุ่นที่ 8 จำนวน 42 คน ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนแล้ว และได้ทำการสอนจบภาคการศึกษาที่ 2/2565 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งสามารถเข้าถึงนักเรียน 19,000 คน ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศไทย ครูผู้นำฯ ทั้ง 101 คนได้เข้าไปมอบการศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านเทคนิคการสอนที่หลากหลาย และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ครู และชุมชนรอบข้าง ซึ่งจะมีบริบทท้าทายที่แตกต่างกันให้ครูผู้นำฯ แต่ละท่านได้เผชิญและลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

โดยนักเรียนมีพัฒนาการทางด้านวิชาการในภาคเรียนที่ 2/2565 ดีขึ้นดังนี้

ในปี 2566 นี้ มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กำลังมุ่งสรรหาครูผู้นำฯ รุ่น 10 อีกถึง 80 คน ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ โดยในปีนี้จะมีการร่วมงานกับกรุงเทพมหานครและส่งครูผู้นำฯ ไปปฏิบัติงานในโรงเรียนขาดแคลนในกรุงเทพฯมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการติดตามผลการปฏิบัติงานของครูผู้นำฯรายบุคคล ภาคเรียนละ 2 ครั้ง รวมถึงการอบรมรวมประจำปีของเหล่าครูผู้นำ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งด้วยการปฏิบัติงานที่ต้องการการติดตามผลอย่างใกล้ชิด และการขยายโครงการใหญ่ขึ้นเกือบเท่าตัว ทำให้ในปี 2566 โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของมูลนิธิฯ ยังต้องการการสนับสนุนอยู่มาก

ความประทับใจจากผู้ได้รับประโยชน์


พร-ภัทรานิษฐ์ ฤทธิแสง
 ใช้เวลาเพียง 3 ปีครึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนที่จะได้รับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์มาครอบครอง ด้วยความที่เรียนจบเร็วกว่าคนอื่น พรจึงได้มีโอกาสได้ไปลองทำงานบริษัท แต่ไม่นาน พรก็ค้นพบว่าโลกในมหาวิทยาลัยกับโลกในการทำงานนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ด้วยความที่พรเป็นนักศึกษาที่ตั้งหน้าตั้งตาเรียน ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตข้างนอก แถมไม่มีประสบการณ์การทำงาน พรจึงประสบปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับโลกการทำงานนี้ พรจึงมองว่าโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้นตอบโจทย์ความต้องการในช่วงชีวิตดังกล่าว “โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้โอกาสเด็กจบใหม่ในการปรับสภาพ และสร้างความคุ้นชินให้กับโลกภายนอกก่อน … ทางโครงการเองไม่ได้ปล่อยให้เราไปเผชิญโลกด้วยตัวเอง มีระบบที่คอยดูแล คอยประคองเราอยู่ พรเลยคิดว่าตรงนี้ตอบโจทย์”


คุณสมใจ
(แม่ของครูก้อย, ครูผู้นำฯ ของโครงการ) ผู้ที่ไม่สนับสนุนให้ลูกสาวเข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่แรก ได้เปลี่ยนความคิดหลังจากครูก้อยเริ่มปฏิบัติหน้าที่จริง
“เอาตรงๆคือ พอครูก้อยมาบอกแม่ว่ามันคืออะไร แม่ขอเปิดใจเลยว่าไม่อยากให้ทำ เพราะแม่อยากให้เขาทำงานธนาคารมากกว่า และแม่เองก็ไม่รู้จักโครงการนี้ แต่ครูก้อยเขาบอกว่า ขอหนูลองทำดูก่อนได้ไหมแม่ ให้หนูได้มีประสบการณ์ และหาความรู้ ตอนแรกก็มีทะเลาะกันบ้าง ร้องไห้ แต่แม่ก็บอกเขาว่า ถ้าหนูมีใจรักทางนี้ก็ไป ครูก้อยเขาให้แม่ตัดสินใจ แม่เลยให้ลองทำ ถ้าไม่ดี 2 ปีค่อยเปลี่ยนงานก็ได้
“ครูก้อยเคยมาเล่าให้ฟังว่า แม่ หนูไม่คิดเลยว่าการเป็นครูจะดี และมีเกียรติแบบนี้ เขาเล่าว่าเขามีวินมอเตอร์ไซค์คอยรับส่งเขาตลอด อายุมากกว่าพ่อเขาอีก พอเขาบอกว่าเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนที่เขาสอน วินคนนี้ยกมือไหว้ทุกวัน เรียกครูก้อย และบอกว่าลูกเขาก็เรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้ เขาบอกว่าลูกบอกว่าครูก้อยเป็นคนน่ารัก”

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จำนวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เด็กนักเรียนที่ได้รับการสอนโดยครูผู้นำฯ 1 วิชา นาน 1 ปีการศึกษา114,155 คนนักเรียนมีความเปลี่ยนแปลงด้านผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ ซึ่งในภาคเรียนล่าสุด 2/2565 นักเรียนมีพัฒนาการทางวิชาการสูงขึ้นถึง 29% นอกจากนี้ทักษะที่จำเป็น และ คุณลักษณะที่ส่งเสริมการเรียนรู้ยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย
คุณครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง56 คนครูมอบการศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านเทคนิคการสอนที่หลากหลาย และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ครู และชุมชนรอบข้าง 
โรงเรียน92 โรงเรียนบุคลากรในโรงเรียนได้แลกเปลี่ยนกระบวนการพัฒนานักเรียนกับครูผู้นำฯ และมีเป้าหมายในการพัฒนานักเรียนร่วมกันในโรงเรียนที่ชัดเจนขึ้น

ภาพประกอบ


นักเรียน
จากโรงเรียนแม่วินสามัคคีกำลังทำกิจกรรมในห้องเรียน ด้วยสื่อการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการ “ลงมือทำ” หนึ่งในวิธีการสอนที่ครูผู้นำฯ นำไปปรับใช้ เพื่อให้ห้องเรียนวิชาการยากๆไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

ครูปรีชาพล ครูสังคมศึกษา โรงเรียนพัฒนาต้นน้ำขุนคอง ในโครงการนำร่องของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์หรือโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้นำครูสังคมศึกษา นำนักเรียนชั้นมัธยมต้นลงพื้นที่ลำห้วยข้างโรงเรียน เพื่อสำรวจและเก็บหินมาใช้ในการทำสีและย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิชาภูมิศาสตร์

นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนหนองใหญ่ ศิริวรวาท จังหวัดชลบุรี กำลังเรียนคำศัพท์เกี่ยวกับอาชีพ ในวิชาภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะร่วมทำกิจกรรมกับจิตอาสาจากต่างประเทศ ในกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิสวารอฟสกี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565

ครูผู้นำฯ จากโรงเรียนบ้านหลวง อำเภอบ้านหลวง จ น่าน ได้ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน เพื่อให้เข้าใจบริบทของชุมชนมากขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูผู้นำฯ นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนอีกด้วย

ครูนาว จากโรงเรียนมัธยมป่ากลาง อำเภอปัว จ. น่าน ได้จัดกิจกรรม ให้นักเรียนถ่ายภาพ ตามโจทย์ “take photo around school” โดยมีเงื่อนไขว่า ภาพถ่ายต้องเป็นการเซลฟี่เท่านั้น ต้องมีสมาชิกทุกคนอยู่ในรูปพร้อมโจทย์ที่ได้รับค่ะ แต่ละกลุ่มได้ไม่เหมือนกัน เช่น ภาพนี้เป็นภาพที่ได้โจทย์ว่า “take a photo with something Thai” กิจกรรมนี้เป็นการให้นักเรียนได้คิด ได้จินตนาการเอาเองว่า จะถ่ายรูปออกมาแบบไหน และเราก็จะมาโชว์รูปที่แต่ละรูปได้รับโจทย์และถ่ายมา พร้อมกับ ให้นักเรียนบอกคำศัพท์ที่อยู่ในรูป 3 คำโดยที่เพื่อนๆในกลุ่มจะช่วยกันตอบ