เราทุกคนล้วนเป็นคนพิการกันได้ทั้งนั้น

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2022

เราทุกคนล้วนเป็นคนพิการกันได้ทั้งนั้น

“ความพิการไม่ได้มีอยู่จริง สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่างหากที่ทำให้คนเราพิการ แม้แต่ตัวเราเองก็เป็นคนพิการได้ ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม หรืออยู่ในสังคมที่ไม่เหมาะสมกับเรา เช่น หากวันหนึ่งเราต้องไปต่างประเทศที่เราฟังภาษาไม่รู้เรื่อง เหมือนกับว่าหูของเราใช้งานไม่ได้ นับว่าเราพิการเหมือนกันนะ สถานการณ์ทำให้เราพิการ”

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล หรือ ต่อ ประธานมูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม และผู้ก่อตั้ง บริษัทกล่องดินสอ จำกัด ชี้ให้เห็นความพิการในอีกมุมมองหนึ่ง

สิ่งแวดล้อมที่เอื้อกับการดำเนินชีวิตของคนพิการไม่ใช่เพียงทางเท้าที่เป็นปุ่ม (Braille Block) ลิฟท์โดยสาร ทางลาดเข้าอาคารสำหรับรถเข็น หรือห้องน้ำและที่จอดรถสำหรับคนพิการ หากสังเกตดีๆ รอบๆ ตัวเราแทบไม่มีสิ่งเอื้ออำนวยให้ผู้ที่มีร่างกาย หรือศักยภาพทางร่างกายที่ต่างไปจากเราเลย อาจเป็นไปได้ว่าเพราะสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย คนพิการจึงไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้ หรือในทางกลับกัน อาจเป็นเพราะคนพิการไม่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน จึงไม่มีใครคำนึงถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อคนกลุ่มนี้เลย เป็นปัญหาที่วนไปไม่รู้ว่าอะไรเกิดก่อน และในยุคที่ Inclusivity หรือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังกำลังเป็นที่ตระหนัก กลุ่มคนพิการถูกละเลยอย่างไรบ้างในประเทศไทย

คนพิการ สังคม ทัศนคติ

ปัจจุบันมีหลายกิจกรรม และหลายๆ สิ่งในชีวิตประจำวัน ที่คนพิการไม่สามารถทำได้ หรือมีส่วนร่วมในสังคม ปัญหาคนพิการเป็นปัญหาเชิงสภาพแวดล้อมมากกว่าเชิงบุคคล ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการออกแบบ หรือ Universal Design ที่ไม่ใช่หมายถึงเพียงแค่การออกแบบถนนหรือทางเท้าที่เหมาะสม แต่หมายถึงการออกแบบอุปกรณ์ ออกแบบห้องเรียน การทำงาน กิจกรรม ออกแบบชุมชน ฯลน ที่มีความเหมาะสมกับคนพิการและกลุ่มคนอื่นๆ มากขึ้น บนพื้นฐานความคิดง่ายๆ ว่า มีสิ่งใดที่คนไม่พิการทำได้แต่คนพิการทำไม่ได้บ้าง เพราะคนพิการก็คือคนคนหนึ่ง ที่อยากทำหลายๆ อย่างเหมือนกับคนที่ไม่พิการ ทุกๆ อย่างในการดำเนินชีวิต

อีกสิ่งหนึ่งคือกรอบความคิดหรือ Mindset ของคนในสังคมไทยที่เชื่อในเรื่องบาปบุญ การที่คนคนหนึ่งพิการเป็นเพราะบาปที่เคยทำมา หรือจุดจบของคนร้ายในละครมักโดนรถชนหรือประสบเหตุให้ได้รับผลกรรมที่ทำไว้ ต้องมากลายเป็นคนพิการ ทำให้สังคมมีภาพจำว่าความพิการเป็นเรื่องของบาปบุญที่เคยทำมา เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องชดใช้กรรมด้วยการเกิดมาเป็นคนพิการ สมควรต้องพบเจอความลำบาก หลายครอบครัวจึงอับอายไม่กล้าพาลูกออกจากบ้าน หรือไม่บอกใครว่ามีลูกที่พิการ ด้วยตราบาปของความพิการที่ประทับในสังคมทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เปิดรับความพิการ ดังที่พบว่าจำนวนคนพิการในแต่ละประเทศตามที่ WHO ได้ศึกษาไว้ และประเมินว่าแต่ละประเทศมีจำนวนคนพิการมาณ 10% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งประเทศไทยน่าจะมีคนพิการอยู่ถึง 6 ล้านคน แต่มีคนพิการที่จดทะเบียนในประเทศไทยเพียง 1.8 ล้านคน

กล่องดินสอ | มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม

จุดเริ่มต้นของกล่องดินสอเกิดจากการมีประสบการณ์ตรงที่ได้สอนการบ้านให้กับเด็กตาบอดและตระหนักว่า เมื่อเด็กตาบอดต้องไปเรียนในโรงเรียนร่วมกับเด็กที่ไม่ได้ตาบอด โรงเรียนยังขาดสื่อเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กตาบอดที่ช่วยทำให้เข้าใจบทเรียนมากขึ้น กล่องดินสอจึงเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะเป็นผู้ผลิตสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กตาบอด

จุดเปลี่ยนคือเมื่อพบว่าเด็กนักเรียนตาบอดไม่สามารถตอบได้เลยว่าเมื่อเรียนจบแล้วอยากเป็นอะไร ในความคิดของเด็กตาบอด (และสังคม) มีเพียงไม่กี่อาชีพที่คนตาบอดทำได้ คือ หมอนวด คนขายลอตเตอรี่ และ Call Center ดังนั้นเด็กนักเรียนตาบอดจึงไม่มีแรงจูงใจในการเรียน เพราะไม่ว่าจะเรียน 6 ปี หรือเรียนต่ออีก 12 ปี ก็จบออกมาทำงานอาชีพเหล่านี้เหมือนกัน ทำให้พบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนสื่อการสอน แต่เป็นการขาดแรงจูงใจในการเรียน แม้สามารถผลิตสื่อการเรียนที่ดีเพียงไหนก็ไม่ตอบโจทย์อยู่ดี 

เมื่อได้กลับมาทบทวนใหม่จึงพบว่าการจะแก้ปัญหานี้ได้ จะต้องทำให้สังคมกลายเป็นสังคม Inclusive Society หรือสังคมเพื่อคนทุกคน ต้องพยายามสร้างสังคมที่ทุกคนมีความหมาย ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งได้โดยไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ถูกแบ่งแยกออกไป ต้องทำให้คนพิการได้มีโอกาสออกจากบ้าน มีโอกาสในการทำงาน ในการใช้ชีวิต ได้ทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนคนไม่พิการ เพื่อให้มีแรงบันดาลใจในการเรียนได้ดีขึ้น เพราะมองเห็นอานาคตว่ามีโอกาสรออยู่ในชีวิต ความตั้งใจใหม่จึงเปลี่ยนเป็นการออกแบบสังคมใหม่ที่เป็นมิตร ที่ทำให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันได้

อุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง

อุปสรรคที่สำคัญคือ Mindset ของคน ทั้งคนพิการและคนไม่พิการ

คนที่ไม่พิการมักเข้าใจว่า การมาร่วมกิจกรรมคือการมาทำบุญให้กับคนพิการ แต่หากปรับมุมมองให้เป็นการมาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน จะไม่นึกถึงการทำบุญอีกต่อไป คนไม่พิการเห็นคนพิการเป็นเพื่อน เป็นคนที่เหมือนๆ กับเขามากขึ้น ในมุมของคนพิการ บางคนก็คุ้นชินกับการได้รับความช่วยเหลือ ถูกปฏิบัติเป็นผู้ที่ได้รับการสงเคราะห์

กิจกรรมที่จัดจะไม่ปฏิบัติต่อคนพิการเป็นพิเศษ หรือได้รับสิทธิที่พิเศษกว่าคนไม่พิการ ต้องทำงานกับ Mindset ทั้งสองทาง ไม่ให้คำว่าพิการเป็นความน่าสงสารหรือเป็นปมด้อย

กิจกรรมและโครงการ

ทุกกิจกรรมและอุปกรณ์ที่ทีมงานของบริษัทกล่องดินสอ และมูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม ได้จัดทำขึ้นล้วนมาจากแนวคิดหลักที่ว่าการทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนไม่พิการ เพื่อสร้างความตระหนักทั้งในคนพิการที่ได้พบและเพิ่มศักยภาพของตนเอง และในคนไม่พิการที่ได้ตระหนักถึงการมีอยู่ของคนพิการ


เล่นเส้น (2556)

อุปกรณ์สร้างภาพนูนประกอบด้วยปากกาที่ใช้ไหมพรมแทนหมึก และสมุดเล่นเส้นซึ่งมีพื้นผิวเกาะเส้นไหมพรมได้ดี ที่ช่วยในการวาดภาพและเสริมสร้างจินตนาการให้กับคนพิการทางการเห็น เมื่อใช้ปากกาเล่นเส้นวาดแล้ว คนพิการทางการเห็นใช้มือสัมผัสตามได้ขณะวาด สามารถใช้สร้างสรรค์งานศิลปะ หรือเสริมการเรียนรู้ให้เข้าใจได้มากขึ้นจากการได้สัมผัส เช่น เรขาคณิต กราฟ แผนที่ ฟิสิกส์ เป็นต้น

การระดมทุนเพื่อทดลองออกแบบอุปกรณ์เล่นเส้นในเทใจ https://taejai.com/th/d/upkrnsnnngtaabdaiheriiynwaadruupaid/

วิ่งด้วยกัน (2558)

กิจกรรมวิ่งออกกำลังกายด้วยกันระหว่างคนพิการทางการเห็น และคนไม่พิการที่อาสาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนำทางในการวิ่ง (Guide Runner) เริ่มต้นด้วยการชวนคนพิการมาออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ในวันเสาร์แรกของทุกๆ เดือน จนเกิดเป็นมิตรภาพระหว่างผู้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ได้คุย และใช้เวลาหลังจากที่วิ่งเสร็จด้วยกัน พัฒนาความสัมพันธ์กลายเป็นเพื่อนที่นัดทำกิจกรรมอื่นๆ นอกจากวิ่งด้วยกัน ทำให้คนพิการกล้าออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน และได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ มากขึ้น ส่วนคนไม่พิการได้รู้จัก เรียนรู้ เป็นเพื่อนกับคนพิการ รวมถึงตระหนักถึงข้อจำกัดในใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้านของคนพิการมากขึ้น

จากกิจกรรมจิตอาสาเดือนละครั้ง พัฒนากลายเป็นงานวิ่งมินิมาราธอนที่มีคนพิการด้านอื่นๆ เข้าร่วมกิจกรรมด้วย โดยจัดเป็นครั้งที่ 5 แล้ว ในปี 2565 นี้ รวมถึงขยายไปยังจังหวัดต่างๆ และทำให้ผู้จัดงานวิ่งอื่นๆ ตระหนักและสนใจที่จะจัดงานวิ่งที่คนพิการสามารถเข้าร่วมงานได้มากขึ้น และมีแผนที่จะทำโครงการต่อยอดเป็นงานกีฬาที่คนพิการและไม่พิการร่วมเล่นด้วยกันได้ (Allympic - Olympic for All) ในปี 2566 อีกด้วย

เด็กพิการเรียนไหนดี (2560)

ฐานข้อมูลและกิจกรรมแนะแนวเพื่อให้ข้อมูลการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแก่คนพิการ ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ กิจกรรมตามโรงเรียน และงานอีเวนท์ที่รวมสถาบันการศึกษาต่างๆ มาร่วมออกบูธเพื่อนักเรียนคนพิการ 

เพราะการศึกษาช่วยเพิ่มโอกาสและคุณภาพชีวิตให้เด็กพิการได้

การระดมทุนเพื่อจัดงานในเทใจ 

พรรณนา (2561)

แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือที่ช่วยให้คนพิการทางการเห็นได้ยินคำบรรยายภาพของภาพยนตร์ขณะที่ไม่มีบทสนทนา ทำให้คนพิการสามารถรับชมภาพยนตร์ได้อย่างเข้าใจและได้อรรถรสแม้มองไม่เห็น

พรรณนาเกิดจากเพื่อนที่เป็นคนพิการทางการเห็นไม่สามารถดูหนังกับเพื่อนๆ ที่ไม่พิการได้ ก่อนหน้านี้คนพิการทางการเห็นจะมีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์แบบมีเสียงบรรยายภาพก็ต่อเมื่อมีการจัดกิจกรรมพิเศษปิดโรงภาพยนตร์และใช้เสียงบรรยายที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งไม่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อมีพรรณนาที่คนพิการทางการเห็นเข้าถึงได้ง่ายเพราะใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือที่มีกันเกือบทุกคน ทำให้มีการผลิตเสียงบรรยายภาพสำหรับภาพยนตร์ต่างๆ มากขึ้น คนพิการทางการเห็นได้รับชมภาพยนตร์มากขึ้น และใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับคนไม่พิการได้มากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตและผู้สร้างภาพยนตร์เกิดความตระหนักถึงกลุ่มคนพิการทางการเห็นที่ควรเข้าถึงภาพยนตร์ได้เหมือนทุกๆ คน มากขึ้น

โวหาร (2565)

เป็นระบบที่พัฒนาต่อเนื่องจากพรรณนา ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตเสียงบรรยายและสามารถเพิ่มจำนวนเรื่อง / เนื้อหาให้มากขึ้น รวมถึงขยายกลุ่มผู้ผลิตหรืออาสาสมัครผลิตคำบรรยายได้กว้างขึ้น ด้วยการพิมพ์เนื้อหาที่เป็นเสียงบรรยายผ่านโปรแกรมโวหาร ซึ่งจะสร้างเสียงบรรยายขึ้นและนำไปเป็นฐานข้อมูลในพรรณนาต่อไป 

โดยร่วมมือกับผู้ผลิตภาพยนตร์ และ Thai PBS ในอนาคตจะทำให้เป็นระบบ Crowdsourcing ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเป็นผู้ทำเสียงบรรยายอาสาสมัครให้กับภาพเคลื่อนไหวต่างๆ (โดยต้องดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์) เหมือนกับอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอด

ปลากด (2565)

อุปกรณ์ที่ช่วยให้การทำกายภาพบำบัดของเด็กๆ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่เป็นเรื่องที่เจ็บปวดและไม่สนุกอีกต่อไป เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องเกม และเลือกการตอบสนองต่างๆ ที่ช่วยฝึกการออกแรงของกล้ามเนื้อ เช่นการกำมือบีบด้ามบังคับ การตบปุ่ม การชูมือและโบกมือผ่านเซนเซอร์ แทนการกดปุ่มบนอินเตอร์เฟสของเกม

ปลากดเกิดจากการที่คนไม่พิการสามารถเล่นเกมได้อย่างสนุกสนาน ในขณะที่เพื่อนคนพิการแทบไม่สามารถเล่นเกมอะไรได้เลย โดยความคิดแรกตั้งใจจะออกแบบอุปกรณ์ที่ทำให้คพิการสามารถออกกำลังกายได้อย่างสนุกสนานด้วยการเล่นเกมผ่านอุปกรณ์รูปปลา (ที่มาของชื่อ ปลากด) และถูกพัฒนาเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาและสร้างแรงจูงใจในการทำกายภาพบำบัด

การระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ในเทใจ https://taejai.com/th/d/plakod/

เมื่อคนพิการได้ทำกิจกรรม ได้เป็นเพื่อนกับคนไม่พิการ

จากคนพิการที่รู้สึกไม่มีหวัง ไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ได้ค้นพบศักยภาพและความเป็นไปได้มากขึ้น กล้าที่จะลองมากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้นว่าถ้าทำสิ่งนี้ได้ ก็ต้องทำอย่างอื่นได้ คนพิการได้มีสังคม มีเพื่อนพิการและไม่พิการมากขึ้น ได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนไม่พิการมากขึ้น ได้ลองประสบการณ์ใหม่ๆ ไปกินข้าวในห้างได้ ไปดูภาพยนตร์ในโรงได้ 

คนไม่พิการ หรืออาสาสมัครที่มาร่วมทำกิจกรรมด้วยก็เปิดรับคนพิการมากขึ้น ก่อนหน้านี้อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนที่ไม่รู้จัก แต่เมื่อกลายเป็นเพื่อนกัน คนไม่พิการก็เปลี่ยน Mindset จะรู้สึกไม่โอเคเมื่อเจอคนพิการถูก discriminate เพราะรู้สึกว่านี่คือเรื่องของเพื่อนเรา หรือไปบอกบริษัทที่ตนเองทำงานว่ามีงานอะไรบ้างที่จ้างคนพิการทำงานได้ มีการชวนคนพิการไปทำกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้น เพราะความเป็นเพื่อนและเห็นว่าคนพิการมีศักยภาพที่จะทำได้หากมีสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ที่เหมาะสม

ปัจจุบันนับว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ไม่ได้ดีขึ้นเพราะการต่อสู้ของคนพิการ แต่เป็นเพราะกระแส Social Inclusion เพราะคนเปลี่ยน Mindset ว่าทุกคนควรอยู่ร่วมกันในสังคมได้ แต่สถานการณ์ปัญหาโลกโดยรวม ปัญหาคนพิการก็ยังเป็นเรื่องหลังๆ ที่คนให้ความสนใจ เพราะต้องแก้ปัญหาที่มีผลกระทบกับคนกลุ่มใหญ่กว่าหรือทุกกลุ่มก่อน เช่นปัญหาโลกร้อน หรือพลังงาน อาหาร

ต่อเติม

“เมื่อนับว่าคนพิการเป็นเพื่อน เราก็อยากทำอะไรให้เพื่อนทำร่วมกับเราได้ อยากให้มีกิจกรรมที่คนพิการมาร่วมกับคนไม่พิการได้ 

ผมไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำนะ แต่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราพร้อมทำได้ทันที เราอยู่ในสถานการณ์ที่ทำได้ และถ้าเราไม่ทำตรงนี้แล้วใครจะทำ เพราะไม่มีคนอื่นแล้วที่ทำเรื่องนี้

ผมว่าทำงานนี้มันน่าอายนะ ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ ทำไมต้องเป็นเราที่ยังต้องทำตรงนี้ ทำไมถึงทิ้งไว้ให้เราต้องทำ ทั้งที่จริงๆ แล้วต้องเป็นทุกคนที่ช่วยกันทำไม่ใช่หรือ ทั้งรัฐบาลและทุกคนในสังคม ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนะครับ

ผมนับว่างานนี้เป็นอาชีพผม แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการเล่นกับเพื่อน เหมือนผมได้เล่นกับเพื่อนเป็นอาชีพ มันดีนะ”

ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล สรุป

คุณเติม


หากอยากช่วยหรือทำอะไรเพื่อคนพิการ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการทำเพียงสองข้อนี้

  1. คิดว่าสิ่งที่เราทำในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นงาน กิจกรรมต่างๆ หรืออาชีพอะไรก็ตาม เราจะทำอย่างไรเพื่อให้คนพิการสามารถมีส่วนร่วม และเข้าถึงบริการหรือร้านของเราได้ เช่น หากเราเปิดร้านอาหาร ลองพิจารณาว่าคนที่นั่งรถเข็นจะเข้ามาในร้านของเราได้ไหม หรือคนตาบอดจะสามารถสั่งอาหารได้อย่างไร ไม่ต้องคิดไกล คิดแค่งานในชีวิตประจำวันของเราเอง และทำให้คนพิการเข้าถึงได้ก็พอ
  2. พิจารณาว่าคนพิการสามารถเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานที่เราทำได้ไหม มีส่วนไหนที่คนพิการทำได้บ้าง ถ้าคนพิการเชื่อว่าเขาทำในหน้าที่นั้นได้ สามารถจ้างงานเขาได้ไหม

เพียงสองอย่างนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการสร้างสังคมเพื่อคนทุกคน ไม่ต้องไปบริจาคหรือเลี้ยงข้าวคนพิการที่ไหน เริ่มได้เลยตอนนี้ที่ตัวคุณเอง : )