ไมโครพลาสติกไม่ได้อยู่แค่ในมหาสมุทรหรืออาหารทะเล แต่พบได้ทุกที่รอบตัวแม้แต่ในเลือด และในเนื้อเยื่อของเรา

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2022

ไมโครพลาสติกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่ได้ถูกพบในทะเลที่มีขยะพลาสติกลอยอยู่ หรือในสัตว์น้ำทะเลเท่านั้น แต่พบอยู่ในปอด ในเลือดของมนุษย์ และรอบๆ ตัวเราในชีวิตประจำวันอย่างแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว


เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการค้นพบไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อปอดของมนุษย์เป็นครั้งแรก จากการตรวจสอบตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดของผู้ป่วยทั้งหมด 13 ราย พบว่ามีไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อปอดถึง 11 ราย โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2565 นักวิทยาศาสร์เพิ่งตรวจพบไมโครพลาสติกในเลือดของมนุษย์เป็นครั้งแรก จากการสุ่มตรวจตัวอย่างเลือด 22 ตัวอย่าง พบไมโครพลาสติกใน 17 ตัวอย่าง และนอกจากนี้ไมโครพลาสติกยังตรวจพบได้ในอุจจาระของผู้ใหญ่ ทารก และอุจจาระแรกของเด็กแรกเกิดอีกด้วย

ด้วยขนาดของไมโครพลาสติกที่เล็กมาก ตั้งแต่มองเห็นด้วยตาเปล่า (5 มม.) ไปจนถึงมองไม่เห็นด้วยขนาด 1 ไมครอน (0.001 มม.) ทำให้สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ผ่านทางการหายใจและทางปาก โดยเข้าสู่ระบบปอด ระบบย่อยอาหาร และปล่อยสารประกอบทางเคมีเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อได้ โดยปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์อย่างเป็นทางการ แต่มีการวิจัยพบว่าไมโครพลาสติกสามารถเข้าในทางเดินอาหารของสัตว์ทะเลจนเต็ม และทำให้สัตว์ทะเลนั้นๆ ไม่สามารถกินน้ำและอาหารอื่นๆ ในปริมาณที่ร่างกายต้องการได้ จนทำให้สัตว์ทะเลขาดน้ำหรือขาดสารอาหารและเสียชีวิต รวมถึงสารเคมีในเนื้อเยื่อส่งผลให้การทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกายสัตว์ลดลง เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อต่างๆ 

ไมโครพลาสติกเกิดขึ้นจาก 2 แหล่งที่มาหลักๆ คือ

  1. จากการผลิตพลาสติกขนาดเล็กเช่นไมโครบีดส์ (Microbeads) เพื่อเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางที่ใช้ขัดทำความสะอาดผิว หรือในยาสีฟัน ซึ่งตั้งแต่การเคลื่อนไหว Microbead-Free Waters Act of 2015 ทำให้หลายประเทศงดการผลิตและห้ามขายผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครบีดส์ไปแล้ว
  2. จากการแตก สลาย หรือย่อยสลายของพลาสติกชิ้นใหญ่ที่ถูกใช้อยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะขวดน้ำดื่ม ถุงพลาสติก เมื่อถูกความร้อน ถูกแรงกระแทก พลาสติกจะแตกออกเป็นไมโครพลาสติก ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบพลาสติกนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นในแม่น้ำ มหาสมุทร หลุมฝังกลบขยะ หรือในอากาศ

ไมโครพลาสติกไม่ได้แตกออกมาหรือเกิดจากขยะพลาสติกเท่านั้น แม้แต่พลาสติกรอบๆ ตัวเราที่ฉีกขาด โดนความร้อน ก็สามารถแตกสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกและเข้าสู่ร่างกายได้ จากการศึกษาพบว่า แม้เพียงการเปิดฝาขวดน้ำที่ทำให้ฝาขวดขาดออกจากห่วงพลาสติกที่ติดอยู่ที่คอขวด การตัดหรือฉีกถุงพลาสติกใส่ขนมหรือกล่องบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ทำให้เกิดไมโครพลาสติกขึ้นได้ (ปริมาณขึ้นอยู่กับประเภทพลาสติก ความยืดหยุ่น และขนาดของชิ้นพลาสติกที่ถูกทำให้แตกออก) ไมโครพลาสติกสามารถพบได้ในการชงชาจากถุงชาที่มีส่วนประกอบของพลาสติกที่ถุงชาหรือที่กาว การซักผ้าที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์อย่างโพลีเอสเตอร์หรือไนลอน ก็เป็นการปล่อยไมโครพลาสติกลงสู่ระบบน้ำเสียซึ่งสุดท้ายจะไหลลงสู่แม่น้ำและทะเลในที่สุด

ตัวอย่างสิ่งที่เราสามารถทำได้เบื้องต้น เพื่อลดปริมาณไมโครพลาสติกรอบๆ ตัวเรา และในสิ่งแวดล้อม

  1.  ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่นถุงพลาสติก หลอด แก้วใส่เครื่องดื่ม และขวดน้ำดื่มพลาสติก
  2. ตระหนักในส่วนประกอบของวัสดุรอบๆ ตัวและที่ต้องการเลือกซื้อ ว่ามีส่วนผสมของพลาสติกหรือไม่ เพื่อระวังการสลายตัวของพลาสติก และเพื่อเลือกใช้วัสดุอื่นทดแทน
  3. ดูส่วนประกอบในเครื่องสำอางโดยเฉพาะที่ใช้ล้างหน้า ทำความสะอาดผิว และครีมบำรุงผิว ว่าไม่มีไมโครบีดส์หรือพลาสติก (ในชื่อต่างๆ เช่น Polyethylene, Acrylates Copolymer, carbomer, Cyclopentasiloxane เป็นต้น)
  4. เลือกชงชาจากใบชา (loose leaf) แทนจากซองจุ่ม
  5. เลือกใช้เสื้อผ้าที่ใช้เส้นใยธรรมชาติ ลดการใช้เส้นใยสังเคราะห์

ด้วยอัตราการผลิตและการใช้พลาสติกในปัจจุบัน ทำให้พบไมโครพลาสติกจำนวนมหาศาลในมหาสมุทร ทั้งในแพลงตอนไปจนถึงในปลาวาฬ และพบได้ใกล้ตัวเราตั้งแต่ในสิ่งที่เราขับถ่ายออกจากร่างกาย ไปจนถึงในเนื้อเยื่ออวัยวะภายในของเรา และคาดว่าปริมาณการผลิตพลาสติกและจำนวนขยะพลาสติกจะเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ ทุกวันนี้ยังไม่มีวิธีการแยกไมโครพลาสติกออกจากสิ่งแวดล้อมหรือออกจากร่างกายสิ่งมีชีวิต และยังไม่มีชุดความรู้ที่แน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกที่มีต่อร่างกายมนุษย์ สิ่งที่เราช่วยกันทำได้ในขณะนี้ที่ยั่งยืนที่สุดคือการลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็นในแบบของคุณเอง

แหล่งข้อมูล: