project เด็กและเยาวชน

พัฒนาชุดโคม LED แก้ปัญหาทารกตัวเหลือง

พัฒนาโคม LED  พร้อมชุดขาตั้งขึ้นมา มอบให้กับหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด (NICU) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา นำไปใช้ในการรักษาและช่วยชีวิตทารกแรกเกิดต่อไป

ระยะเวลาโครงการ 2 เดือน พื้นที่ดำเนินโครงการ ชลบุรี

ยอดบริจาคขณะนี้

26,000 บาท

เป้าหมาย

20,000 บาท
ดำเนินการไปแล้ว 130%
จำนวนผู้บริจาค 20

สำเร็จแล้ว

ความคืบหน้าโครงการ

ชุดโคมไฟ LED แก้ปัญหาทารกตัวเหลืองออกรายการทีวี

29 มิถุนายน 2017

ชุดโคมไฟ LED แก้ปัญหาทารกตัวเหลือง จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ออกรายการและสัมภาษณ์ทีมวิจัยในWorkpoint TV  และรายการสมุทรโคจร (หนองโพ the hero)

ธนกฤต พิชิตภัย นวัตกรรมคนไทย โคมไฟ LED รักษาทารกตัวเหลือง

หนองโพ...The HERO ตอน ECIL

อ่านต่อ »
ดูความคืบหน้าโครงการทั้งหมด

ที่มา/ความสำคัญโครงการ

Cerulean LED Phototherapy โคมไฟแอลอีดีกำลังสูงสำหรับแก้ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด ผลงานนิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์แพทย์ สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นการสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และประสิทธิภาพในการรักษาใกล้เคียงกับเครื่องมือราคาสูง พร้อมได้รับรางวัลการันตีระดับประเทศถึง 2 รางวัล

  1. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สาขา สิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และการสาธารณสุข โครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์ รุ่นใหม่” ประจำปี พ.ศ.2559 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
  2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในงานแสดงผลงานทางวิชาการ และการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางด้านวิศกรรมชีวการแพทย์ Biomedical Engineering Innovation 2016 มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

นอกจากการประกวดแล้ว Cerulean LED Phototherapy ตัวแรกที่พัฒนาขึ้นนั้นได้ผ่าน Clinical trial phase และสามารถใช้รักษาอาการภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้จริง

ดังนั้นพวกเราจึงมีแนวคิดที่จะสร้างโคมไฟ  LED ตัวที่ 2 พร้อมชุดขาตั้งขึ้นมา เพื่อมอบให้กับหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด (NICU) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา นำไปใช้ในการรักษาและช่วยชีวิตทารกแรกเกิดต่อไป และมีปณิธานที่จะทำแจกจ่ายให้กับสถานพยาบาล และโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลต่อไปในอนาคต

Cerulean LED Phototherapy โคมไฟแอลอีดีกำลังสูงสำหรับแก้ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดสามารถใช้งานร่วมกับตู้อบ (Incubator) ที่มีอยู่เดิม เพื่อเปิดไฟให้การรักษาได้ทันที ช่วยลดความเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อน และความพิการของทารกแรกเกิดที่เกิดสภาวะตัวเหลืองได้ มีขนาดกะทัดรัดและเคลื่อนย้ายพกพาได้อย่างสะดวก โดยมีต้นทุนในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ไม่เกินหลักหมื่นบาท ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงเครื่องมือชิ้นนี้ได้ ประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อและบำรุงรักษา และให้ประสิทธิภาพในการรักษาใกล้เคียงกับเครื่องมือราคาสูงได้ ซึ่งโคมไฟที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 70,000 ถึง  200,000 บาท

ภาวะตัวเหลือง (Hyperbilirubinemia)อันตรายแค่ไหน?

โดยส่วนมากภาวะตัวเหลืองเหล่านี้จะเป็นชนิด unconjugated hyperbilirubinemia ทารกแรกเกิดร้อยละ 25-50 จะพบภาวะตัวเหลืองในระยะ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเกิดจากสาเหตุและปัจจัยหลายประการ โดยที่ทารกชาวไทยและประเทศแถบเอเชียจะมีระดับบิลิรูบินสูงกว่าชาวยุโรปและอเมริกา  ดังนั้นภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด จึงเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยตลอดจนประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด และภาวะตัวเหลืองที่มีค่าบิลิรูบินในเลือดสูงมาก จะส่งผลต่อสมองของทารก อาจทำให้เกิดความพิการอย่างถาวรและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นำมาซึ่งการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศไปอย่างน่าเสียดาย

การรักษาภาวะตัวเหลืองชนิด unconjugated  hyperbilirubinemia ในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี แต่การรักษาที่ได้รับความนิยม แพร่หลาย และเกิดผลกระทบแก่ทารกน้อย คือการรักษาด้วยวิธีการส่องไฟ (Phototherapy) โดยที่เครื่องส่องไฟที่มีการใช้มากที่สุดในประเทศไทย มีต้นกำเนิดแสงมาจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งจะมีข้อด้อยอยู่หลายประการ เช่น ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นตามความเข้มแสง ซึ่งอาจทำให้ทารกมีไข้และขาดน้ำ หลอดไม่สามารถควบคุมการปลดปล่อยแสงที่มีความยาวคลื่นจำเพาะได้ จึงเกิดแสงช่วงคลื่นอื่นๆที่ไม่จำเป็นต่อการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงรังสีเหนือม่วง (ultraviolet) ซึ่งส่งผลเสียแก่ผิวหนังทารกได้มากมาย หลอดมีอายุการใช้งานสั้น และหากหลอดแตกจะทำให้เกิดเศษแก้วและปล่อยไอปรอทออกมาเป็นขยะมลพิษที่เป็นอันตราย

ในปัจจุบันในโรงพยาบาลได้นำเอาเครื่องส่องแสงไฟมาใช้ในการรักษาสภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด ซึ่งจะมีทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชน รวมไปถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอและในบางพื้นที่เท่านั้น แต่โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารขาดแคลนเครื่องมือชิ้นนี้ อันเนื่องมากจากเครื่องมือมีราคาสูง

ประโยชน์ของโครงการ

  1. พัฒนาโคมไฟ Cerulean LED Phototherapy แก้ภาวะตัวเหลืองช่วยลดความเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อน และความพิการของทารกแรกเกิดที่เกิดสภาวะตัวเหลืองได้
  2. สร้างสรรค์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ที่สามารถนำไปใช้ในการช่วยชีวิตมนุษย์ได้จริง และทำแจกจ่ายให้กับสถานพยาบาล และโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลต่อไปในอนาคต
  3. ช่วยโรงพยาบาลประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อและบำรุงรักษา และให้ประสิทธิภาพในการรักษาใกล้เคียงกับเครื่องมือราคาสูงได้ ซึ่งโคมไฟที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 70,000 ถึง  200,000 บาท ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงเครื่องมือชิ้นนี้ได้ เพราะโคมตัวนี้ใช้ต้นทุนไม่เกินหลักหมื่นบาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่ เพจห้องปฏิบัติการไฟฟ้าและการสื่อสารเพื่อการประดิษฐ์ (ECIL) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา http://www.facebook.com/ECILBUU

กิจกรรมที่จะดำเนินโครงการ

สำหรับ Cerulean LED Phototherapy โคมไฟแอลอีดีกำลังสูงสำหรับแก้ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด พวกเราจะนำมอบให้กับหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด (NICU) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา นำไปใช้ในการรักษา และช่วยชีวิตทารกแรกเกิดต่อไป โดยจะมีการปรับปรุงการทำงาน และประสิทธิภาพที่ดีกว่าโคมตัวแรก ตามคำแนะนำของ อาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำหอผู้ป่วย พยาบาลผู้ดูแล เพื่อให้ได้โคมไฟที่ตรงความต้องการของผู้ใช้ และเกิดความสะดวกสบายในการใช้งาน ซึ่งจะมีกำหนดการส่งมอบโคมไฟ LED อย่างเป็นทางการ ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2559 จำนวน 1 ตัว พร้อมชุดขาตั้ง

สำหรับท่านที่สนใจหรือต้องการพบปะกับพวกเรา พร้อมเยี่ยมชมโคมไฟ LED อย่างใกล้ชิด เรียนเชิญได้ที่ งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016) ระหว่างวันที่ 17 – 21 สิงหาคม พ.ศ.2559 ณ โรงแรมเซ็นทราราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพมหานคร จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในส่วนของบูทงานวิจัยมหาวิทยาลัยบูรพา

การพัฒนาโคมไฟตัวแรก เพื่อนำไปทดสอบความเข้มเชิงสเปกตรัม ก่อนนำไปมอบให้กับโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยบูรพา

รับฟังความคิดเห็นจากอาจารย์แพทย์ ณ หอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด (NICU) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา

ส่งทดสอบความเข้มแสงเชิงสเปกตรัมให้ตรงกับงานวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการการกระเจิงแสง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)

นำมาสู่การพัฒนาโคมไฟตัวที่ 2 เพื่อนำไปใช้ในการรักษา และช่วยชีวิตทารกแรกเกิดต่อไป กำลังพัฒนาชุดขาตั้งโคมไฟ

การทดสอบการวัดความเข้มแสงเชิงสเปกตรัมที่ให้ผลสอดคล้องกับงานวิจัยทางการแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าใช้งานได้

สมาชิกภายในทีม

  1. นาย ณัทกร เกษมสำราญ โทรศัพท์ : 086-8313084 E-mail : hellofloppy@gmail.com 
  2. นาย ณัฐพล ไชยมาก โทรศัพท์ : 082-4650738 E-mail : nattapol-1104@hotmail.com
  3. นาย เวียงชัย คาระมาตย์ โทรศัพท์ : 087-2368905 E-mail : waengchaikkun@gmail.com

นิสิตประจำห้องปฏิบัติการไฟฟ้าและการสื่อสารเพื่อการประดิษฐ์ (ECIL) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา http://www.facebook.com/ECILBUU

ภาคี

  • หอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด (NICU) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา
  • ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • กองประเมินผลและจัดการความรู้การวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
  • ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าและการสื่อสารเพื่อการประดิษฐ์ (ECIL) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ความคืบหน้าและความประทับใจจากเจ้าของโครงการพัฒนาชุดโคม LED แก้ปัญหาทารกตัวเหลือง

29 สิงหาคม 2016

โครงการพัฒนาชุดโคม LED แก้ปัญหาทารกตัวเหลืองพร้อมชุดขาตั้ง เกิดจากการพัฒนาต่อยอดจากผลงาน Cerulean LED Phototherapy โคมไฟแอลอีดีกำลังสูงสำหรับแก้ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด ผลงานนิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์แพทย์ สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นการสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดย นายณัทกร เกษมสำราญ นายเวียงชัย คาระมาตย์ และนายณัฐพล ไชยมาก (ปัจจุบันจบการศึกษาไปแล้ว ซึ่งจะพัฒนาต่อเพียง 2 คน)

การดำเนินการที่จะเกิดขึ้น

ในระหว่างที่ระดมทุนอยู่นั้น พวกเราได้มีการพัฒนาชุดโคมไฟ และชุดขาตั้งไปพร้อมๆ กัน โดยอาศัยทุนสนับสนุนจากร้าน EasyHomeLED.com มาสำรองจ่ายในค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการสั่งผลิตหลอดแอลอีดีที่มีความยาวคลื่นที่จำเพาะเจาะจงสำหรับใช้ในการประกอบโคมไฟ สำหรับเปลือกโคมที่เกิดจากการขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เกิดขึ้นสำเร็จได้โดยร้าน NTT Pro 3D Printer ภาพรวมของชุดโคมไฟแอลอีดีสมบูรณ์ไปถึงร้อยละ 90 ซึ่งยังมีจุดแก้ไขปรับปรุงบางส่วน เช่น การระบายความร้อนของอุปกรณ์ ก่อนที่จะส่งมอบโคมไฟพวกเราอยากพัฒนาให้สมบูรณ์ที่สุด และให้ดีกว่าตัวต้นแบบที่ได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ตัวโคมไฟต้นแบบได้ถูกนำไปจัดแสดงในงาน มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานภาคนิทรรศการในงานวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการได้กล่าวถวายรายงาน และมีกระแสรับสั่งให้พัฒนาชุดโคมไฟจนสำไปสู่การแจกจ่ายตามโรงพยาบาลในที่ห่างไกลต่อไป ข่าวเพิ่มเติม http://s.ch7.com/188892

ตั้งแต่ที่มีการเปิดการระดมทุนโครงการขึ้นมา มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวน 20 ท่าน และบริจาคเป็นจำนวนเงินที่สูง จึงทำให้สามารถปิดโครงการได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับเงินบริจาคที่เหลือจากการพัฒนาชุดโคมไฟและขาตั้ง จะนำไปสบทบทุนบริจาคให้กับการสร้าง อาคารวิจัยทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ความประทับใจ

ขอบพระคุณเว็บ “เทใจดอทคอม” ที่เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว รวมไปถึงผู้ใจบุญที่ร่วมกันบริจาคเข้ามาจนเกินยอดที่ได้ตั้งเป้าไว้ จากเดิม 20,000 บาท เป็น 26,000 บาท ถือเป็นโครงการแรกที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลระดับชาติ และสามารถนำไปใช้ได้จริง พวกเราจะตั้งใจพัฒนาโคมไฟตัวนี้ให้ดีที่สุด ให้เป็นไปตามความต้องการและกำลังใจจากผู้บริจาคทุกๆ ท่าน ทั้ง 20 ท่าน พวกเราจะพยายามอัพเดทความคืบหน้าของโครงการอยู่เป็นระยะทั้งการบวนการพัฒนาปรับปรุงจนถึงการส่งมอบ ซึ่งส่วนของภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษานั้นไม่สามารถเผยแพร่ได้ เนื่องจากจะผิดหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณทางการแพทย์ รวมถึงคำประกาศสิทธิของผู้ป่วย สำหรับท่านที่บริจาคเข้ามาสามารถพูดคุยสอบถามกับพวกเราได้ที่ https://www.facebook.com/ECILBUU/ 


นายณัทกร เกษมสำราญ

ตัวแทนนิสิตประจำห้องปฏิบัติการ ECIL ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ส่งมอบเครื่องพัฒนาชุดโคม LED แก้ปัญหาทารกตัวเหลือง ให้กับโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยบูรพา

5 เมษายน 2017

ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทีมงานผู้พัฒนาโคมไฟต้นแบบชุดโคม LED ได้นำโคมไฟต้นแบบดังกล่าวไปจัดแสดงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานภาคนิทรรศการในงานวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการได้กล่าวถวายรายงาน และมีกระแสรับสั่งให้พัฒนาชุดโคมไฟจนสำไปสู่การแจกจ่ายตามโรงพยาบาลในที่ห่างไกลต่อไป 


ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาชุดโคม LED แก้ปัญหาทารกตัวเหลืองพร้อมชุดขาตั้ง ได้พัฒนาต่อยอดจากผลงาน Cerulean LED Phototherapy โคมไฟแอลอีดีกำลังสูงสำหรับแก้ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด ผลงานนิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์แพทย์ สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ทางทีมงานห้องปฏิบัติการ ECIL ได้มีการปรับปรุงและทดสอบการทำงานของโคมต้นแบบจนสามารถส่งมอบให้กับหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด (NICU)  ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรรัตน์ วัฒนมงคล นายณัทกร เกษมสำราญ และนายเวียงชัย คาระมาตย์ ตัวแทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อาจารย์ นายแพทย์ ปราการ ทัตติยกุล และแพทย์หญิงกีรติ อยู่เย็นตัวแทนจากคณะแพทยศาสตร์ ในการส่งมอบโคมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา 



ซึ่งโคมไฟตัวดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการรักษาอาการทารกตัวเหลือง (Neonatal Hyperbilirubinemia) ภายใต้การดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ ในระหว่างนี้ทางทีมงานห้องปฏิบัติการ ECIL จะทำการออกแบบ และสร้างโคมไฟรุ่นใหม่ ที่มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อน โดยมีการนำระบบสมองกลฝังตัวเข้ามาใช้ในการควบคุม และสั่งงานระบบแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง แทนการใช้ระบบ Dimming และปรับเปลี่ยนแนวการจัดเรียงของกลุ่มหลอดใหม่ เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของความเข้มแสงเชิงสเปกตรัมต่อไป ซึ่งได้มีการต่อยอดจากสิ่งประดิษฐ์ของนิสิตระดับปริญญาตรีไปเป็นโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่กำลังขอทุนวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อที่จะได้สามารถทำการศึกษาวิจัยทางคลินิก ตลอดจนนำไปสู่การสร้างโคมไฟสำหรับแจกจ่ายต่อไป



ความประทับใจ

"ขอบพระคุณเว็บ “เทใจดอทคอม” ที่เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว รวมไปถึงผู้ใจบุญที่ร่วมกันบริจาคเข้ามาจนเกินยอดที่ได้ตั้งเป้าไว้ ซึ่งตอนนี้พวกเราได้ส่งมอบให้กับหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด (NICU) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นที่เรียบร้อย หวังว่ากุศลผลบุญจะส่งกลับไปยังผู้ร่วมบริจาคทุกๆ ท่าน ถ้าไม่มี “เทใจดอทคอม” โครงการของพวกเราก็ไม่จะไม่มาถึงจุดนี้ได้ ทุกท่านสามารถติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวของพวกเราได้ที่ https://www.facebook.com/ECILBUU/"


นายณัทกร เกษมสำราญ

ตัวแทนนิสิตประจำห้องปฏิบัติการ ECIL ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ชุดโคมไฟ LED แก้ปัญหาทารกตัวเหลืองออกรายการทีวี

29 มิถุนายน 2017

ชุดโคมไฟ LED แก้ปัญหาทารกตัวเหลือง จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ออกรายการและสัมภาษณ์ทีมวิจัยในWorkpoint TV  และรายการสมุทรโคจร (หนองโพ the hero)

ธนกฤต พิชิตภัย นวัตกรรมคนไทย โคมไฟ LED รักษาทารกตัวเหลือง

หนองโพ...The HERO ตอน ECIL

แผนการใช้เงิน

รายการ บาท
ชิ้นส่วนตัวโครงสร้างพลาสติก ABS ด้วยการขึ้นรูปด้วย 3D Printer  5,000
ชุดหลอดแอลอีดีกำลังสูงแบบ 3 วัตต์ แสงสีน้ำเงินความเข้มสูง 2,000
ระบบควบคุมการทำงานโคมไฟ ตัว Hourcounter พัดลมระบายความร้อน 3,000
ชุดขาตั้ง Stainless Steel พร้อมฐานติดล้อ และขาจับยึดปรับระดับได้  8,000
ค่าใช้จ่ายในการเขียนแบบจำลองทางวิศวกรรม และงานปฏิบัติการทางช่าง  2,000
รวม 20,000