จัด 10 กิจกรรม ให้ความรู้สิทธิมนุษยชน และสุขภาวะ แก่เด็กและผู้ปกครอง

MIGRANTS LEARNING CENTER

เมื่อวันที่ 20 July 2020

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ มูลนิธิฯ จึงขอปรับแผนการใช้เงินเป็นการจัดกิจกรรม 10 กิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 เวทีประชุมสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ และแนวทางการจัดการศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติในชุมชน เมื่อวันที่ 30 – 31 มกราคม พ.ศ.2563 เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมรู้รักสามัคคี ที่ว่าการอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ : แกนนำอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติในพื้นที่อำเภอขนอม จำนวน 45 คน โดยมีการจัดการประชุม 2 วัน คือวันที่ 30 มกราคม 2563 เป็นการประชุม เพื่อวางแผนและเตรียมงานประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 16 คน และวันที่ 31 มกราคม 2563 มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กและแกนนำอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งสิ้น 32 คน

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง : ผู้เข้าร่วมมาจากหน่วยงานทั้งฝ่ายการศึกษา โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก กศน. ฝ่ายงานด้านการปกครอง ผู้บังคับใช้กฎหมาย ฝ่ายงานบริการด้านสุขภาพ โรงพยาบาล ผู้ประกอบการแพปลา สมาคมประมงอำเภอขนอม ได้ทำความเข้าใจถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติร่วมกัน และได้รับรู้ถึงภาระกิจงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ทำให้เห็นถึงช่องทางการหนุนเสริม ที่แต่ละหน่วยงานจะให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ และการจัดการหลักสูตรการเรียนการสอน ทักษะชีวิตและการรับรองวุฒิบัตรเมื่อเรียนจบ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปกครองสนับสนุนให้เด็กได้เรียนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการส่งต่อเด็กที่มีความต้องการเข้าสู่การเรียนในระบบ และนอกระบบซึ่งทาง กศน.อำเภอขนอมได้นำหลักสูตรการเรียนการสอนและทักษะชีวิตที่มีอยู่มาพัฒนาให้เข้ากับบริบทและวิถีชีวิตของเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ในเวทีมีข้อเสนอถึงการจัดเวทีพูดคุยเพื่อหาความร่วมมือในเรื่องการศึกษาเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะร่วมกัน เพื่อจะได้ลงรายละเอียดในการทำงานให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงการเสนอให้จัดทำข้อมูลData base เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลก่อนเริ่มโครงการ จะได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นบทเรียนและรูปแบบการทำงานในอำเภอขนอม (ขนอมโมเดล) ในส่วนของผู้ปกครองและอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ ที่เข้าร่วมประชุม มีความพึงพอใจและมีความหวัง พลังใจในการที่จะขับเคลื่อนงานศูนย์เด็กฯ โดยมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้การสนับสนุน การประชุมร่วมกันทำให้ทุกฝ่ายได้รับฟังเสียงและความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นการลดช่องว่างในการเชื่อมต่องานกับภาคีเครือข่าย และทำให้ผู้เข้าร่วมได้ทำความรู้จักกันและมีสัมพันธภาพอันดีต่อกัน จะช่วยเอื้อต่อการประสานงานในการดำเนินงานโครงการได้ดีต่อไปในอนาคต

กิจกรรมที่ 2 ประสานและประชุมหารือเรื่องการศึกษาศูนย์การเรียนฯ กับผู้ปกครองแกนนำแรงงานข้ามชาติ เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ณ ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้ได้รับผลประโยชน์ : พ่อแม่ผู้ปกครอง อาสาสมัคร โดยวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ผู้เข้าร่วม 13 คน และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ผู้เข้าร่วม 13 คน รวมทั้งสิ้น 26 คน

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง : ผู้ปกครองและแกนนำอาสาสมัครเกิดการร่วมกลุ่มปรึกษาหารือร่วมกันถึงแนวทางการจัดการศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติใน 3 เรื่อง คือ

  1. การสร้างความตระหนักให้กับผู้ปกครองในเรื่องการศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเห็นความสำคัญถึงอนาคตของเด็ก เด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติในชุมชนที่ไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นแรงงานเด็ก และอยู่เพียงลำพังในบ้านพักที่ไม่ปลอดภัย จะต้องทำการประชาสัมพันธ์ผ่านผู้ปกครองและแกนนำอาสาสมัครเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องการศึกษาและส่งลูกหลานเข้ามาเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติ ที่สอนโดยครูเมียนมาร์และได้เรียนตามแบบเรียนของการศึกษาของเมียนมาร์ แม้จะยังไม่มีวุฒิบัตรรับรองแต่การส่งลูกหลานเข้ามาเรียนก็จะทำให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ในภาษาของตนเองได้
  2. การทำความเข้าใจกับผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนในระบบการศึกษาของไทย ให้เห็นความสำคัญของภาษาของตนเอง หากต้องกลับไปอยู่ที่ประเทศต้นทาง แต่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ในภาษาของตนเอง เด็กจะใช้ชีวิตอยู่บนความยากลำบาก เพื่อให้ผู้ปกครองส่งลูกมาเรียนภาษาพม่าที่ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติอำเภอขนอมในช่วงปิดภาคเรียนเดือนเมษายน หรือแม้หากเด็กต้องออกจากระบบโรงเรียนของไทย ซึ่งอาจมีปัจจัยมากมายที่ไม่เอื้อให้พวกเขาไปต่อได้ เด็กก็จะมีทางเลือกทางการศึกษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพวกเขาได้ในอนาคต
  3. การบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ และการระดมทุนให้ศูนย์ฯ ยังคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน จะทำอย่างไร ซึ่งผู้ปกครองและแกนนำอาสาสมัครยังขาดทักษะและวิธีการที่จะปฏิบัติ จึงเสนอความต้องการที่จะไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาถึงวิธีการของศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติอื่นๆ ที่สามารถจัดการศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติได้ เพื่อที่จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในชุมชนอำเภอขนอม

กิจกรรมที่ 3 การศึกษาดูงานรูปแบบการจัดการศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 โดยได้ดูงาน 2 แห่ง ในอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติวัดโพหวาย ตำบลบางกุ้งและศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติวัดสมหวัง ตำบลวัดประดู่

ผู้ได้รับผลประโยชน์ : ผู้ปกครองและแกนนำอาสาสมัคร จำนวน 10 คน

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง : สรุปการศึกษาดูงานทั้ง 2 แห่ง ความคิดเห็นของผู้ปกครองและแกนนำอาสาสมัคร มองว่าศูนย์การเรียนฯ วัดโพหวายจะมีต้นทุนและความช่วยเหลือจากคนที่มีกำลังและมีเครดิตทางสังคมค่อนข้างมาก ซึ่งห่างไกลจากศูนย์การเรียนฯ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ให้ความสนใจศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติวัดสมหวังมาก เพราะมีบริบทใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้ปกครองและแกนนำอาสาสมัครรู้สึกมีพลังใจและมีความหวังที่จะนำแนวทางของศูนย์ฯวัดสมหวังมาลองปรับใช้ในพื้นที่ โดยมีแผนในเรื่องการเก็บข้อมูลความต้องการด้านการศึกษาของผู้ปกครองแรงงานข้ามชาติ และการประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติอำเภอขนอมให้เป็นที่รู้จักในชุมชน โดยอยากให้ทางเจ้าหน้าที่โครงการฯมูลนิธิรักษ์ไทยหนุนเสริมในเรื่องทักษะต่างๆ ทั้งเรื่องวิธีการเก็บข้อมูล การวางแผนประชาสัมพันธ์กับผู้ปกครองเพื่อให้ส่งเด็กมาเรียน และทักษะการระดมทุน รวมถึงในเรื่องการบริหารจัดการในเรื่องการเงิน รวมถึงการผลักดันให้เด็กและครูไปสอบวัดระดับการศึกษาที่ประเทศต้นทาง และจะได้รับวุฒิบัตรเมื่อเรียนจบ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จะจูงใจให้ผู้ปกครองอยากส่งลูกหลานมาเรียน และในเรื่องการอบรมพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการและครูผู้สอนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในศูนย์การเรียนฯแห่งนี้ และต้องสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน

กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมประชุมหารือเรื่องการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จัดขึ้นในวันที่ 13-14 เมษายน พ.ศ.2563 ณ ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้ได้รับผลประโยชน์ : ผู้ปกครองและแกนนำอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ วันที่ 13 เมษายน ผู้เข้าร่วม 11 คน และวันที่ 14 เมษายน ผู้เข้าร่วม 8 คน ซึ่งมีคนเก่า 5 คน และคนใหม่ที่เข้ามาร่วมประชุม 6 คน และเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย 2 คน

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง : ร่วมกันกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงหาแนวทางการป้องกันการติดเชื้อฯและหาแนวทางการแก้ไขต่างๆ ร่วมกันในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินนี้

กิจกรรมที่ 5 อบรมทักษะชีวิตเด็ก สิทธิเด็ก สำหรับเด็กข้ามชาติในชุมชน ในวันที่ 15-16 เมษายน พ.ศ.2563 ณ ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้ได้รับผลประโยชน์ : เด็กผู้ติดตามแรงงานช้ามชาติ จำนวน 32 คน เป็นชาย 17 คน หญิง 15 คน โดยอบรมในศูนย์การเรียนฯ เด็กข้ามชาติที่มีเด็กมารวมตัวกัน แต่เน้นการเว้นระยะห่างในช่วงอบรม

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง : เด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติมีความตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพ และมีความรู้และการป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับรู้ถึงสิทธิเด็กขั้นพื้นฐานที่ตนเอง มีทั้งรายเก่าและรายใหม่ ในส่วนของรายเก่าจะทำการทบทวนข้อมูลความรู้ที่เคยผ่านการอบรม และให้ความรู้กับรายใหม่ให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงการป้องกัน เพราะยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่เว้นระยะห่าง

กิจกรรมที่ 6 โมบายความรู้เคลื่อนที่อบรมให้ความรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องสุขภาวะสำหรับผู้ปกครองแรงงานข้ามชาติ ในวันที่ 18-20 เมษายน พ.ศ.2563 ที่ห้องพักแพปลาในอำเภอขนอม

ผู้ได้รับผลประโยชน์ : จำนวน 58 คน เป็นชาย 24 คน เป็นหญิง 34 คน เป็นแรงงานข้ามชาติ 49 คน เป็นคนไทย 7 คน

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง : ผู้ปกครองแรงงานข้ามชาติและคนไทยในชุมชนยังเข้าไม่ถึงข้อมูลความรู้ในเรื่องโควิด-19 ได้ชัดเจน รู้แต่ว่ามีการระบาด แต่ก็ยังใช้ชีวิตปกติ หลายคนจะใส่หน้ากากอนามัยเฉพาะเวลาออกจากบ้านเพราะกลัวถูกตำรวจจับ ไม่ได้กลัวติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังไม่รู้วิธีการล้างมือที่ถูกต้อง หลายคนยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่เว้นระยะห่าง เนื่องจากสื่อต่างๆ ที่ประกาศให้เฝ้าระวังหรือการป้องกันไม่มีภาษาแรงงานข้ามชาติ พม่า มอญ การจัดกิจกรรมให้ความรู้โดยใช้สื่อที่เป็นภาษาพม่าและมีล่ามช่วยแปลภาษาเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้แรงงานข้ามชาติมีข้อมูลและทักษะในการป้องกันเพิ่มมากขึ้น เริ่มให้ความสนใจในเรื่องการป้องกันไวรัสโควิด-19 เพราะเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด รวมถึงได้มีการแจกหน้ากากผ้า สบู่ ที่ได้รับจากโครงการ นธส.และผู้บริจาคต่างๆ ทำให้แรงงานมีความพึงพอใจมาก เพราะหน้ากากแพงและมีแค่คนละ 1 ชิ้น โดยแกนนำอาสาสมัครเด็กเป็นผู้ช่วยในการอบรมในครั้งนี้ ช่วยให้ข้อมูลเรื่องโควิด-19 ร่วมกัน และให้ข้อมูลการล้างมือและการใช้ผ้าปิดปากได้อย่างถูกต้อง

กิจกรรมที่ 7 โมบายความรู้เคลื่อนที่ทักษะชีวิตเด็ก สิทธิเด็ก สำหรับเด็กข้ามชาติในชุมชน ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ณ ชุมชนที่พักแรงงานข้ามชาติ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช อบรมให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพในช่วงCOVID-19 และสิทธิเด็กขั้นพื้นฐาน

ผู้ได้รับผลประโยชน์ : เด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติจำนวน 20 คน เป็นชาย 15 คน เป็นหญิง 5 คน อบรมตามแพห้องพักของเด็กๆ แบบกลุ่มย่อย เนื่องจากสถานการณ์โควิด ลดความเสี่ยงในการรวมตัว

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง : ให้ความรู้ในเรื่องการป้องกันCOVID-19 โดยเฉพาะการป้องกันที่ง่ายและประหยัดที่สุดคือการล้างมือ และการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้เด็กๆ มีความตระหนักและให้ความสำคัญไม่ประมาท เพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่ในชุมชนยังเล่นกันเป็นกลุ่มไม่เว้นระยะห่าง เนื่องจากความเป็นเด็กและผู้ใหญ่เองก็เห็นว่าสถานการณ์เบาบางลง จึงไม่ให้ความสำคัญมากนัก การอบรมในครั้งนี้จึงเป็นการกระตุ้นเตือนให้เด็กๆ มีความระมัดระวังปกป้องตนเอง การสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่าง มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาวะ อีกทั้งเชื่อมโยงในการชวนคุยในเรื่องสิทธิเด็ก โดยเฉพาะสิทธิในด้านสุขภาพ หากเกิดเจ็บป่วยไม่สบายจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และเข้าสู่กระบวนการรักษาสถานบริการโรงพยาบาลตามสิทธิอย่างไร เพราะสิทธิด้านสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

กิจกรรมที่ 8 อบรมความรู้ทักษะชีวิตเด็ก สุขภาวะ ในศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติสำหรับเด็กข้ามชาติ

ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ณ ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช อบรมให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพในช่วงCOVID-19 การล้างมือที่ถูกวิธีเพื่อป้องกันCOVID-19 และสิทธิเด็กขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิด้านสุขภาพ

ผู้ได้รับผลประโยชน์ : เด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติจำนวน 20 คน เป็นชาย 10 คน เป็นหญิง 10 คน

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง : การจัดกิจกรรมอบรมในศูนย์การเรียนฯ เป็นการจัดกิจกรรมที่สืบเนื่องจากวันนี้คุณครูได้นัดเด็กมาพบกันเพื่อเข้ามาแลกเปลี่ยนสถานการณ์COVID-19 ที่ผ่านมา เป็นการติดตามเด็กไปด้วย เพื่อไม่ให้เด็กหายไปจากระบบการเรียนของศูนย์ เพราะโรงเรียนได้ปิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน และถือโอกาสมาทบทวนการเรียนกัน ซึ่งเด็กที่เข้ามาร่วมมีทั้งเด็กที่ปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ในศูนย์ฯ และเด็กที่เคยเรียนและออกไปเรียนต่อในระบบ รวมถึงเด็กที่อยู่บ้านไม่ได้เรียน แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กทุกคนอยู่บ้าน ปิดภาคเรียน เมื่อมีกิจกรรมที่ศูนย์ฯ จึงเข้ามาร่วมกิจกรรม จึงทำให้วันนี้เด็กๆ มีความสุขที่ได้พบเพื่อนเก่าๆ ที่เคยเรียนด้วยกัน รวมถึงวันนี้ทางมูลนิธิรักษ์ไทยได้จัดกิจกรรมอบรมร่วมด้วย และที่เด็กๆ ชอบที่สุดคือกิจกรรมช่วยกันกรอกแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือใส่ขวดและทุกคนได้รับกลับไปใช้ที่บ้าน ทำให้รู้สึกดีใจที่ได้รับของที่ทำด้วยมือของตนเองไปใช้เอง อีกทั้งยังมีทีมสมาคมสื่อชุมชนภาคใต้เข้าไปถ่ายทำคลิปวีดีโอและสัมภาษณ์เด็กๆ เครือข่ายคนทำงานเยาวชนโครงการ สสส.เข้ามาเยี่ยมเยือนเด็กๆ จึงทำให้กิจกรรมวันนี้คึกคักมาก เด็กๆ ตื่นเต้นและสนุกในการทำกิจกรรม มีเด็กหลายคนมีความเปลี่ยนแปลงจากที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจไม่กล้า

กิจกรรมที่ 9 โมบายความรู้เคลื่อนที่อบรมให้ความรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องสุขภาวะสำหรับผู้ปกครองแรงงานข้ามชาติ ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ณ ห้องพักแพปลาในอำเภอขนอม จ.นครศรีธรรมราช

ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ : ผู้ปกครองแรงงานข้ามชาติเมียนมาร์ จำนวน 22 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 19 คน มีรายเก่าที่เคยผ่านการอบรมCOVID-19 แล้ว 3 ราย และรายใหม่ 19 ราย

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง : แรงงานข้ามชาติได้รับความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพและการป้องกันที่ถูกต้องในเรื่องการป้องกันโควิด-19 รู้ถึงสิทธิสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ โดยใช้สื่อที่เป็นภาษาพม่าและมีล่ามช่วยแปลภาษาเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้แรงงานข้ามชาติมีข้อมูลและทักษะในการป้องกันเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการลงพื้นที่โมบายให้ความรู้ตามที่พักแรงงานข้ามชาติ ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี ได้โอกาสในการคุยในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ของเด็กข้ามชาติลูกหลานของพวกเขา ทำให้ผู้ปกครองบางรายที่ยังไม่นำลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาเกิดความต้องการให้ลูกได้เรียน จึงทำให้เห็นว่าการสร้างความไว้วางใจก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองจะส่งลูกเข้าเรียนที่ศูนย์การเรียนฯ ได้

กิจกรรมที่ 10 อบรมทักษะชีวิตเด็กในเรื่องสุขภาวะ อนามัยเจริญพันธ์ การปกป้องตนเองไม่ตกเป็นเหยื่อหรือถูกละเมิด ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2563 ณ ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้ได้รับผลประโยชน์: เด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติจำนวน 22 คน เป็นชาย 14 คน เป็นหญิง 8 คน

สิ่งที่ได้ผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง: เด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอนามัยเจริญพันธ์ ทักษะการปกป้องตนเองไม่ตกเป็นเหยื่อหรือถูกละเมิด ไม่ให้ถูกอนาจารหรือความรุนแรงทางเพศทั้งผู้ชายและผู้หญิง เนื่องจากเด็กๆ หลายคนเริ่มเข้าสู่วัยที่เกิดสัญญานของการเป็นหนุ่มเป็นสาว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพทางเพศทางสรีระที่ถูกต้อง สุขอนามัยความสะอาด และการท้องไม่พร้อม

สัมภาษณ์เด็กที่ได้รับประโยชน์


ดช.วันทา(น้องสามสิบ)
อายุ 14 ปี

น้องสามสิบเคยเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ตอนอายุ 9-12 ปี และปัจจุบันได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดกระดังงา อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงเรียนของภาครัฐ แต่เขาจะแวะเวียนมาที่ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติเกือบทุกวัน และไม่เคยพลาดทุกกิจกรรมที่มูลนิธิรักษ์ไทยจัด

คำถาม : อะไรที่ทำให้รู้ประทับใจกับศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติแห่งนี้ ?

น้องสามสิบ : ที่นี่มีเพื่อนๆ ที่พูดภาษาเดียวกัน ได้ทำกิจกรรมด้วยกัน สนุกดี กลับจากโรงเรียนหนูก็มารดน้ำต้นไม้ให้ศูนย์ฯเกือบทุกวัน บ้านอยู่ใกล้ด้วย เดินมาได้ปลอดภัย เวลาพี่ๆรักษ์ไทยมาทำกิจกรรมอะไรก็อยากมาร่วม บางทีเวลาพี่เขามาทำกิจกรรมหรือมาอบรมให้ความรู้ที่ศูนย์ฯ ก็ให้หนูช่วยเป็นล่ามให้ด้วย เพราะน้องๆ บางคนฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง

คำถาม : รู้สึกอย่างไรเมื่อต้องช่วยพี่เขาเป็นล่ามแปลภาษา?

น้องสามสิบ : หนูชอบ สนุกดี และก็ภูมิใจ ได้ความรู้ในสิ่งที่พี่เขาอบรมให้น้องๆ มากขึ้นด้วย อยากทำอีก เวลาพี่ๆ รักษ์ไทยมา ถ้าหนูอยู่หนูก็จะมาที่ศูนย์ฯ ทุกครั้ง มาช่วยทุกอย่างที่ทำได้

คำถาม : รู้สึกว่าเราโชคดีไหมที่พูดได้และอ่านได้หลายภาษา?

น้องสามสิบ : ก็โชคดีนะที่เคยได้เข้ามาเรียนที่ศูนย์นี้ด้วย ตอนนี้หนูพูดได้ 3 ภาษาเลยนะ ภาษามอญ ภาษาพม่า และภาษาไทย ดีใจที่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนที่ศูนย์เด็กข้ามชาติฯ ทำให้ตนเองได้อ่านภาษาพม่าได้ และตอนที่เรียนที่ศูนย์เด็กข้ามชาติได้มีครูจาก กศน.อำเภอขนอม มาสอนภาษาไทยพื้นฐาน ก-ฮ ด้วย จึงมีพื้นฐานเมื่อได้มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนไทย

คำถาม : อยากบอกอะไรไหม?

น้องสามสิบ : อยากขอบคุณมูลนิธิรักษ์ไทยที่ทำให้มีศูนย์เด็กข้ามชาติแบบนี้ใกล้บ้าน ทำให้เด็กๆ อย่างพวกหนูได้มีพื้นที่ปลอดภัย ได้เรียน ได้เล่น ได้ทำกิจกรรมสนุกๆ มากมาย อยากให้เปิดศูนย์ฯ ตลอดไป น้องๆ คนอื่นจะได้มีโอกาสเหมือนหนูบ้าง